อดีตรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน ตัวแทนพรรคเดโมแครตลงชิงชัยตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ในวันที่ 3 พฤศจิกายน เรียกร้องให้วุฒิสภาเลื่อนการลงมติรับรองตุลาการศาลสูงคนใหม่ที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เสนอชื่อ ไปจนกว่าการเลือกตั้งผ่านพ้นไป และผู้ชนะเข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเรียบร้อยแล้ว
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเสนอชื่อ ผู้พิพากษา เอมี่ โคนีย์ แบร์เรตต์ ขึ้นเป็นตุลาการศาลสูง แทนอดีตตุลาการ รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก ผู้เพิ่งเสียชีวิตลงไป โดยระบุว่า ผู้พิพากษา แบร์เรตต์ คือ “นักกฎหมายที่มีความสามารถและฉลาดหลักแหลมที่สุดรายหนึ่งของสหรัฐฯ” และเป็นผู้ที่ “มีคุณสมบัติโดดเด่นอย่างมาก” ที่จะเข้ารับตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายตุลาการ
การเสนอชื่อตุลาการศาลสูงใหม่ของปธน.ทรัมป์ ก่อนการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน กลายมาเป็นประเด็นถกเถียงอย่างมากในสหรัฐฯ โดยเฉพาะจากฝั่งหัวเสรีนิยมที่มองว่า เป็นการใช้โอกาสเพื่อจะถ่วงศาลสูงของประเทศให้มีความอนุรักษ์นิยมมากขึ้น ขณะที่ผลสำรวจหลายสำนักเผยว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ต้องการให้ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเร็วๆ นี้ เป็นผู้เสนอชื่อมากกว่า
และเมื่อผู้สื่อข่าวของ วีโอเอ ถามปธน.ทรัมป์ ระหว่างการแถลงข่าวที่ทำเนียบขาว ผู้นำสหรัฐฯ ตอบว่า ตนคิดว่าเหตุผลที่คนส่วนใหญ่ต้องการรอนั้นเป็นเพราะไม่มีใครรู้จัก ผู้พิพากษา แบร์เรตต์ พร้อมยืนยันการคาดการณ์ว่า กระบวนการรับรองนั้นจะเสร็จสิ้นก่อนการเลือกตั้งแน่นอน
แต่ อดีตรองปธน.ไบเดน กล่าวย้ำว่า วุฒิสภาสหรัฐฯ จะต้องยืนหยัดเพื่อประชาธิปไตยของสหรัฐฯ ขณะที่การเดินหน้ารับรองผู้ได้รับการเสนอชื่อนั้นอาจเป็น “การก้าวเข้าสู่ปากเหวที่ไม่สามารถเดินถอยกลับได้ และเป็นการหักหลังต่อคุณลักษณ์หนึ่งเดียวของความเป็นชาวอเมริกัน ซึ่งก็คือ การที่ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ”
ตัวแทนพรรคเดโมแครตยังกล่าวด้วยว่า หากตนเป็นผู้มีชัยในการเลือกตั้งปธน.ที่จะมาถึง ตนจะถอนชื่อของ ผู้พิพากษา บาร์เรตต์ เพื่อเลือกใหม่แน่นอน
ทั้งนี้ ปธน.ทรัมป์ ยืนยันการตัดสินใจเสนอชื่อตุลาการศาลสูงคนใหม่ เพราะเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ แม้ว่า เท่าที่ผ่านมา จะไม่เคยมีการเสนอชื่อเช่นนี้ใกล้ๆ กับการเลือกตั้งประธานาธิบดีมาก่อนก็ตาม พร้อมระบุว่า การหาผู้มารับตำแหน่งแทน ตุลาการ กินส์เบิร์ก ซึ่งเป็นนักกฎหมายหัวเสรีนิยม เป็นสิ่งที่จำเป็นหากเกิดกรณีโต้แย้งผลเลือกตั้ง และผลการลงมติของตุลาการศาลสูงที่มีอยู่ทั้ง 8 คนออกมาเสมอกันที่ 4 ต่อ 4
และแม้ อดีตรองปธน.ไบเดน จะออกมาเรียกร้องให้สภาสูงสหรัฐฯ เลื่อนการลงมติรับรองออกไปก่อน รายงานข่าวชี้ว่า ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่า วุฒิสภาซึ่งพรรครีพับลิกันคุมเสียงข้างมากอยู่จะชะลอกระบวนการนี้ออกไปแต่อย่างใด ขณะที่ สำนักข่าว Associated Press รายงานเมื่อวันอาทิตย์ว่า คณะกรรมาธิการตุลาการวุฒิสภาอาจจะกำหนดตารางการพิจารณาคุณสมบัติในวันที่ 12 ตุลาคมนี้