การเสียชีวิตของผู้พิพากษาหญิง รูท เบเดอร์ กินสเบิร์ก (Ruth Bader Ginsburg) ของศาลสูงสุดหรือศาลฎีกาสหรัฐ เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปเพียงราวหกสัปดาห์ ได้สร้างประเด็นขัดแย้งทางการเมืองเรื่องใหม่ระหว่างพรรครีพับลิกันกับพรรคเดโมแครต ในแง่ที่ว่าใครควรเสนอชื่อผู้เข้ารับตำแหน่งคนใหม่เพื่อให้วุฒิสภาสหรัฐลงมติรับรอง และการลงมติดังกล่าวควรมีขึ้นเมื่อใด?
ศาลสูงสุดหรือศาลฎีกาของสหรัฐฯ ประกอบด้วยคณะผู้พิพากษาหรือที่เรียกว่าตุลาการศาลสูงรวม 9 คน โดยแต่ละคนจะอยู่ในตำแหน่งได้ตลอดชีวิต และการเข้ารับตำแหน่งดังกล่าวซึ่งถือเป็นการทำงานในองค์กรสูงสุดของอำนาจฝ่ายตุลาการนั้นจะต้องผ่านการคัดเลือกและเสนอชื่อโดยประธานาธิบดี เพื่อให้ผ่านการรับรองของวุฒิสภา
เท่าที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มักเสนอชื่อตุลาการศาลสูงผู้มีแนวคิดทางการเมืองและสังคมรวมทั้งการตีความกฎหมายซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดและปรัชญาทางการเมืองของพรรคตน โดยสำหรับประธานาธิบดีทรัมป์เอง ในสมัยแรกของการดำรงตำแหน่งก็ได้มีโอกาสเสนอชื่อตุลาการศาลสูงซึ่งมีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมไปแล้วสองคน
ก่อนที่ผู้พิพากษารูท เบเดอร์ กินสเบิร์ก ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีบิล คลินตัน จะเสียชีวิตลงนั้น องค์คณะของตุลาการศาลสูงสหรัฐประกอบด้วยผู้พิพากษาที่มีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม 5 คนและแนวหัวก้าวหน้า 4 คน ดังนั้นการเสียชีวิตของผู้พิพากษากินสเบิร์ก ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นตุลาการศาลสูงผู้มีแนวคิดแบบก้าวหน้ามากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ จะเป็นโอกาสให้องค์ประกอบของคณะผู้พิพากษาศาลสูงดังกล่าวเปลี่ยนไปเป็นการมีเสียงข้างมากซึ่งเป็นแนวอนุรักษ์นิยม 6 คนและแนวก้าวหน้า 3 คนได้
นักวิเคราะห์ด้านกฎหมายชี้ว่า เรื่องนี้อาจจะส่งผลอย่างสำคัญต่อการวินิจฉัยและตีความประเด็นที่สำคัญต่าง ๆ ซึ่งมีผลกระทบทั้งทางด้านสังคม กฏหมาย และการเมืองของสหรัฐฯ ในอนาคต
ความสำคัญเรื่องบทบาทและองค์ประกอบของคณะตุลาการศาลสูงสหรัฐฯ ดังกล่าว รวมทั้งการเสียชีวิตของผู้พิพากษารูท เบเดอร์ กินสเบิร์ก ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีเพียงราวหกสัปดาห์ ทำให้เกิดคำถามและข้อถกเถียงว่าใครควรจะเป็นผู้เสนอชื่อตุลาการศาลสูงคนใหม่ และการลงมติรับรองโดยวุฒิสภาควรจะมีขึ้นเมื่อใด
ในส่วนของประธานาธิบดีทรัมป์เองนั้น ผู้นำฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ได้ประกาศแล้วว่าตนจะรีบเสนอชื่อตุลาการศาลสูงคนใหม่ซึ่งเป็นสตรีให้วุฒิสภาเร่งพิจารณา และวุฒิสมาชิกมิชท์ แมคคอนัลด์ ผู้นำฝ่ายเสียงข้างมากของพรรครีพับลิกันในวุฒิสภา ก็กล่าวขานรับเมื่อคืนวันศุกร์เช่นกันว่า วุฒิสภาจะเร่งพิจารณาผู้ที่ประธานาธิบดีทรัมป์เสนอชื่อและลงมติเพียงแต่ยังไม่ได้ระบุเงื่อนเวลาที่แน่นอน
อย่างไรก็ตาม วุฒิสมาชิกแพททริค เลย์ฮี ของพรรคเดโมแครต กล่าวว่า ตนไม่เคยเห็นพฤติกรรมกลับกลอกทางการเมืองแบบนี้มาก่อน โดยชี้ว่าเมื่อสี่ปีที่แล้วในช่วงต้นของปีสุดท้ายของประธานาธิบดีโอบามานั้น มีตำแหน่งตุลาการศาลสูงของสหรัฐฯ ว่างลงเช่นกัน
แต่วุฒิสมาชิกมิชท์ แมคคอนัลด์ ซึ่งก็เป็นผู้นำฝ่ายเสียงข้างมากในวุฒิสภาขณะนั้น ไม่ยอมพิจารณาการเสนอชื่อตุลาการศาลสูงคนใหม่จากประธานาธิบดีโอบามา โดยอ้างว่ายังไม่ควรตั้งผู้พิพากษาศาลสูงของสหรัฐฯ ในปีเลือกตั้ง เพราะควรเปิดโอกาสให้ประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกตั้งใหม่เป็นผู้ดำเนินการ โดยผ่านการตัดสินใจของคนอเมริกันที่ไปออกเสียงเลือกตั้งมากกว่า
ขณะนี้พรรครีพับลิกันมีเสียงข้างมากอยู่ในวุฒิสภา 53 ต่อ 47 เสียง และในการลงมติรับรองผู้พิพากษาศาลสูงนั้นทางพรรคต้องการเสียงอย่างน้อย 50 เสียง เนื่องจากหากคะแนนเสียงเสมอกัน รองประธานาธิบดีในฐานะประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่งจะสามารถลงคะแนนชี้ขาดได้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีวุฒิสมาชิกหญิงของพรรครีพับลิกันอย่างน้อยสองคน คือวุฒิสมาชิกซูซาน คอลลินส์ จากรัฐเมน กับวุฒิสมาชิกลิซ่า เมอร์เคาสกี้ จากอลาสก้า ที่ออกมาคัดค้านโดยแสดงความเห็นว่า วุฒิสภายังไม่ควรลงมติรับรองผู้พิพากษาศาลสูงของสหรัฐฯ คนใหม่ก่อนการเลือกตั้ง 3 พฤศจิกายนนี้ ถึงแม้ว่าวุฒิสมาชิกทั้งสองจะยังไม่ได้ให้รายละเอียดว่าตนจะสนับสนุนเรื่องนี้หรือไม่ หากวุฒิสภากำหนดการลงมติเรื่องดังกล่าวหลังการเลือกตั้งไปแล้ว เพราะประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จะยังไม่เข้ารับหน้าที่อย่างเป็นทางการอย่างน้อยจนกระทั่งวันที่ 20 มกราคมปีหน้า
ในขณะที่ผู้นำพรรคเสียงข้างมากในวุฒิสภายังต้องคำนึงว่า เสียงสนับสนุนภายในพรรครีพับลิกันของตนจะเพียงพอหรือไม่ และควรกำหนดการลงมติของวุฒิสภาเมื่อใด เพราะมีโอกาสที่พรรคเดโมแครตอาจได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นในวุฒิสภาหลังการเลือกตั้ง 3 พฤศจิกายนนี้ ก็มีสมาชิกของพรรคเดโมแครตบางคนได้เสนอแนวคิดว่า หากทางพรรคชนะการเลือกตั้งและได้คุมเสียงข้างมากในวุฒิสภา ทางพรรคจะเสนอให้แก้กฎหมายเพื่อเพิ่มจำนวนตุลาการศาลสูงของสหรัฐจาก 9 เป็น 11 คน
นักวิเคราะห์การเมืองมองว่า ประเด็นเรื่องการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงแทนตุลาการรูท เบเดอร์ กินสเบิร์ก ที่เพิ่งเสียชีวิตลงนี้ จะยิ่งสร้างความแหลมคมให้กับประเด็นการหาเสียงเลือกตั้งสำหรับวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้อย่างแน่นอน