ความตึงเครียดในยุโรปจากกรณีความกังวลว่า รัสเซียจะส่งทหารบุกเข้ายูเครน ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านติดชายแดนตะวันออก ทำให้รัฐบาลหลายประเทศตัดสินใจดำเนินแผนการรองรับและป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์นี้กันแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งเดินหน้าหารือประเด็นดังกล่าวกับชาติพันธมิตรในยุโรปมาอย่างต่อเนื่อง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน เปิดเผยเมื่อวันเสาร์ว่า ได้ให้อำนาจแก่ประเทศกลุ่มบอลติก อันประกอบด้วย เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย ส่งขีปนาวุธต่อต้านรถถังและต่อต้านอากาศยานที่ผลิตโดยสหรัฐฯ ให้กับยูเครน ในช่วงที่ความตึงเครียดระหว่างกรุงเคียฟและกรุงมอสโกกำลังยกระดับขึ้นต่อเนื่องอยู่นี้
รมต.บลิงเคน ระบุในข้อความทวิตเตอร์ด้วยว่า อาวุธที่พันธมิตรนาโต้จะส่งให้กับยูเครนนั้น “จะช่วยเสริมสร้างสรรพกำลังในการป้องกันตนเองต่อการรุกรานที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการยั่วยุและเป็นสิ่งที่ไร้ซึ่งความรับผิดชอบของรัสเซีย” พร้อมแสดงความขอบคุณต่ออดีตสมาชิกสาธารณรัฐโซเวียตซึ่งเป็นสมาชิกองค์การนาโต้สำหรับ “การสนับสนุนที่ดำเนินมาอย่างยาวนานของทุกฝ่ายต่อยูเครน” ด้วย
การเปิดเผยคำสั่งอนุญาตให้ประเทศในกลุ่มบอลติกส่งอาวุธของสหรัฐฯ ให้กับยูเครนนั้น เกิดขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังสหรัฐฯ และรัสเซียสามารถบรรลุความคืบหน้าเล็กน้อยในการลดความตึงเครียดของสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับยูเครนได้ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต่างสัญญาที่จะเดินหน้าเจรจากันต่อไปภายหลังการประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาสิ้นสุดลง
และเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเช่นกัน ทำเนียบขาวออกแถลงการณ์ที่ระบุว่า “ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ร่วมประชุมกับทีมงานด้านความมั่นคงของประเทศ ทั้งผ่านระบบออนไลน์และด้วยตนเอง ที่แคมป์เดวิด เพื่อหารือท่าทีรุกรานต่อเนื่องของรัสเซียเข้ายูเครน และปธน.ไบเดน ได้รับรายงานเกี่ยวกับสถานะล่าสุดของปฏิบัติการกองทัพรัสเซียในแถบชายแดนที่ติดกับยูเครน รวมทั้งได้หารือเกี่ยวกับความพยายามต่างๆ ในการลดความตึงเครียดผ่านช่องทางการทูตและเกี่ยวกับมาตรการสกัดกั้นต่างๆ ที่สหรัฐฯ วางแผนร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดทั้งหลายอยู่ อันรวมถึง การนำส่งความช่วยเหลือด้านความมั่นคงให้กับยูเครน”
แถลงการณ์ฉบับนี้ยังระบุด้วยว่า “ปธน.ไบเดน ได้ยืนยันอีกครั้งว่า หากรัสเซียทำการบุกเข้าไปในยูเครน สหรัฐฯ จะดำเนินมาตรการอันจะมีผลทันทีและมีความรุนแรงร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนต่างๆ ของสหรัฐฯ ต่อรัสเซียด้วย”
สถานีข่าว ซีเอ็นเอ็น (CNN) และ ฟ๊อกซ์ นิวส์ (Fox News) ต่างรายงานเมื่อวันเสาร์ด้วยว่า สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเคียฟ ได้ร้องขออำนาจจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้ตนอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้ปฏิบัติงานในส่วนที่จำเป็นและมีความสำคัญและครอบครัวเดินทางออกจากยูเครนแล้ว
แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลยูเครนบอกกับ วีโอเอ ว่า ได้ยินจากผู้ที่ตนติดต่อทำงานร่วมด้วยในสถานทูตสหรัฐฯ ว่า กำลังมีการพิจารณาแผนอพยพเจ้าหน้าที่ในส่วนงานที่ไม่จำเป็นรวมทั้งครอบครัวอยู่จริง และได้มีการสื่อสารเกี่ยวกับแผนการดังกล่าวให้กับรัฐบาลยูเครนรับรู้แล้วตั้งแต่เมื่อวันศุกร์
ต่อมา เจ้าหน้าที่อาวุโสรายหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ บอกกับ วีโอเอ ว่า ยังไม่มีการออกคำสั่งอพยพใดๆ ออกมา หลังมีการสอบถามไปว่า จริงหรือไม่ ที่สมาชิกในครอบครัวเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯ ในยูเครนได้รับคำสั่งให้เริ่มกระบวนการอพยพตั้งแต่วันจันทร์นี้แล้ว ขณะที่ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ย้ำในอีเมล์ที่ส่งมายัง วีโอเอ ว่า ไม่มีการออกคำสั่งดังว่าออกมา และ“ยังไม่มีรายละเอียดใดๆ ที่จะต้องประกาศออกมาในเวลานี้”
โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ยังระบุด้วยว่า หากนักการทูตสหรัฐฯ และสมาชิกในครอบครัวจะต้องทำการอพยพ “ประชาชนชาวอเมริกันก็ไม่ควรจะคาดหวังว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะช่วยสนับสนุนกระบวนการอพยพให้” และชี้ว่า สายการบินพาณิชย์ต่างๆ ยังมีการบินเข้า-ออกยูเครนอยู่ตามปกติในช่วงนี้
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รมต.บลิงเคนและ เซอรเกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ร่วมประชุมกันที่นครเจนีวาเป็นเวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งจบลงด้วยการที่ทั้งสองฝ่ายยืนยันไม่ยอมถอยจากจุดยืนข้อเสนอของตน
รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ บอกกับผู้สื่อข่าวหลังการประชุมว่า “หากกองทัพรัสเซียทำการข้ามพรมแดนเข้ามายังยูเครน ก็จะต้องพบกับการตอบโต้อย่างรวดเร็วและรุนแรงที่สหรัฐฯ ประสานงานมาอย่างดีกับหุ้นส่วนและพันธมิตรทั้งหลาย”
ทั้งนี้ รัฐบาลตะวันตกเรียกร้องให้รัสเซียถอนทหารและอาวุธของตนออกจากชายแดนที่ติดกับยูเครน ขณะที่ กรุงมอสโกยืนยันให้องค์การนาโต้ลดปฏิบัติการของตนในพื้นที่ยุโรปตอนกลางและตะวันออกลง พร้อมย้ำว่า พันธมิตรกองทัพชาติตะวันตกนั้นต้องปฏิเสธความพยายามของยูเครนที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต้ด้วย
ในเรื่องนี้ รมต.บลิงเคน กล่าวว่า สหรัฐฯ และพันธมิตรทั้งหลายพร้อมที่จะพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นที่รัสเซียกังวลอยู่ แต่การพูดคุยเรื่องนี้จะมาพร้อมกับเงื่อนไขสำหรับรัสเซียให้พิจารณาด้วย
รายงานข่าวระบุว่า เบน วอลเลซ รัฐมนตรีกลาโหมอังกฤษ มีกำหนดจะพบกับ เซอร์เกย์ ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซียในกรุงมอสโกเร็วๆ นี้ แต่ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับวันที่ที่แน่นอนออกมา
และแม้ว่า สหรัฐฯ และพันธมิตรจะแสดงความกังวลเกี่ยวกับท่าทีของรัสเซียมาตลอด เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียกลับพยายามชี้นำว่า ยูเครนต่างหากที่เป็นผู้รุกราน โดย รมต.ลาฟรอฟ กล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า “ไม่มีใครพยายามซ่อนความจริงเลยว่า กำลังมีการส่งมอบอาวุธต่างๆ ไปให้ยูเครน และผู้ฝึกสอนทางทหารจำนวนหลายร้อยคนกำลังแห่กันไปยังยูเครนอยู่ในเวลานี้”
อย่างไรก็ตาม รมต.ต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า การพูดคุยระหว่างตนกับ รมต.บลิงเคนนั้น “เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์และมีประโยชน์” และเปิดเผยว่า จะมีการเจรจาหารือกันต่อไป เกี่ยวกับประเด็นข้อเรียกร้องด้านความมั่นคงจากเครมลิน พร้อมกล่าวว่า รัสเซียและสหรัฐฯ ต่างให้คำมั่นที่จะนำเสนอความกังวลของทั้งสองฝ่ายเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อใช้ในการหารือครั้งต่อๆ ไป
และขณะที่ ความตึงเครียดและการเดินหน้าเกมการเมืองทั้งหมดนี้ยังดำเนินอยู่นี้ อันโตนิโอ กูเทอเรซ เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เรียกร้องให้ทุกฝ่ายใจเย็นๆ เข้าหากัน และกล่าวว่า ตนได้ส่งข้อความอันชัดเจนไปยังทุกฝ่ายแล้วว่า ไม่ควรจะมีการดำเนินการทางทหารใดๆ ในประเด็นที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ และตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สิ่งที่ร้องขอไปนี้ จะไม่เกิดขึ้น และ “หวังว่า ความหวังของตนนั้นจะเกิดขึ้นจริง”
- ข้อมูลบางส่วนมาจาก เอพี เอเอฟพี และรอยเตอร์