ทำเนียบขาวรายงานว่า ในวันพฤหัสบดีประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ “ขอให้รัสเซียลดความตึงเครียดกับยูเครนลง” ในการพูดคุยที่ใช้เวลา 50 นาทีกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่อาวุโสแห่งทำเนียบขาวกล่าวว่าผู้นำรัสเซียไม่ได้ให้คำสัญญาที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับกองทัพรัสเซียหลายหมื่นคนที่มาปักหลักอยู่บริเวณชายแดนยูเครน
โฆษกทำเนียบขาว เจน ซากิ กล่าวในแถลงการณ์ว่า ปธน.ไบเดน “แสดงออกอย่างชัดเจนว่าสหรัฐฯ พันธมิตร รวมทั้งหุ้นส่วนของสหรัฐฯ จะตอบโต้อย่างเด็ดขาดและแน่นอนหากรัสเซียบุกรุกยูเครน”
นอกจากนี้โฆษกทำเนียบขาวยังกล่าวเพิ่มเติมว่าสหรัฐฯ และรัสเซียจะเข้าร่วมการประชุมสามเวทีในเดือนมกราคม ได้แก่ การหารือแบบทวิภาคีในวันที่ 10 มกราคม และการหารือร่วมกับหลายประเทศในที่ประชุมสภานาโต-รัสเซีย และองค์การแห่งความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป
เธอกล่าวว่า ผู้นำสหรัฐฯ ย้ำว่าการหารือเหล่านี้จะทำให้เกิดความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมได้ ก็ต่อเมื่ออยู่ในภาวะแวดล้อมที่ลดความตึงเครียดแทนที่จะเพิ่มความตึงเครียด
เป็นเวลาหลายเดือนแล้วที่ ปธน.ปูตินได้เสริมกำลังกองทัพบริเวณชายแดนรัสเซียและยูเครน เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ได้ประเมินจากภาพถ่ายดาวเทียมว่า รัสเซียมีกองกำลังมากถึง 100,000 นายในพื้นที่ ในขณะเดียวกัน ยูเครนก็ได้เพิ่มการป้องกันดินแดนของตนในอีกด้านหนึ่งของชายแดนเช่นกัน
ยูเครน ซึ่งเคยเป็นสมาชิกของสหภาพโซเวียต ได้ใช้เวลาหลายปีที่ผ่านมาหาทางเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือองค์การนาโต (NATO) เช่นเดียวกับสหรัฐฯ และประเทศยุโรปตะวันตกอื่น ๆ ซึ่งรัสเซียได้ต่อต้านความพยายามดังกล่าวของยูเครนเรื่อยมา
ทำเนียบขาวได้กล่าวมาตลอดว่าหากรัสเซียบุกรุกยูเครน จะทำให้เกิด “ผลกระทบที่รุนแรง” ตามมาอย่างแน่นอน รวมทั้งการลงโทษทางเศรษฐกิจที่รุนแรง และการเพิ่มการสนับสนุนด้านความมั่นคงให้กับยูเครน
ที่กรุงมอสโคว์ ยูริ ยูชาคอฟ ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศของ ปธน.ปูติน กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าผู้นำรัสเซียเตือนผู้นำสหรัฐฯ ว่า คำขู่ของไบเดนที่จะใช้มาตรการการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียนั้น “จะเป็นความผิดพลาดอย่างมหาศาลและจะทำให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงติดตามมา”
ที่ผ่านมารัสเซียได้เรียกร้องให้นาโตปฏิเสธที่จะรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก และให้นาโตลดกำลังทหารในบริเวณยุโรปตอนกลางและยุโรปตะวันออก
การพูดคุยกันในวันพฤหัสบดีเป็นการพูดคุยโดยตรงครั้งที่สองของผู้นำทั้งสองประเทศ ภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือน ซึ่งลีออน แอรอน นักวิเคราะห์แห่งสถาบัน American Enterprise Institute กล่าวกับวีโอเอว่า นี่เป็นครั้งที่แปดที่ผู้นำทั้งสองประเทศได้พบปะกันในเวลาเพียงหนึ่งปี ซึ่งเขามองว่าเป็นสถิติใหม่ในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย รวมทั้งสหรัฐฯและสหภาพโซเวียต
ถึงแม้ว่านักวิเคราะห์จะมองว่า ปธน.ปูติน ไม่น่าจะบุกรุกเข้ายูเครน แต่พวกเขาแสดงความกังวลว่าการที่มีกองกำลังหลายหมื่นนายที่พร้อมรบในบริเวณชายแดนอาจจะเป็นชนวนก่อให้เกิดสงครามได้ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม
ด้าน วลาดิเมียร์ เซเลนซกี ประธานาธิบดียูเครน ทวีตในวันพุธว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ได้ให้คำสัญญาอย่างหนักแน่นว่าสหรัฐฯ จะสนับสนุนยูเครนอย่างเต็มที่ในการต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย
นักวิเคราะห์ต่างกำลังจับตาดูว่าผู้นำสหรัฐฯ และรัสเซียจะสามารถพบกันครึ่งทางเพื่อประณีประนอมกันได้หรือไม่ ลีออน แอรอน นักวิเคราะห์แห่งสถาบัน American Enterprise Institute แสดงความเห็นไปในทางเดียวกับนักวิเคราะห์คนอื่น ๆ ว่า ปธน.ปูติน นั้นกำลังวางท่า เพื่อแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในอีกสองปีข้างหน้า
เขามองว่า ปธน.ปูติน ประสบความสำเร็จในการสร้างภาวะฉุกเฉิน ทำให้เห็นว่าเขากำลังจะเริ่มทำสงคราม และกำลังจะรุกรานยูเครน ซึ่งทำให้ทำเนียบขาวหลงเชื่อและพลอยเต้นไปด้วย ทั้ง ๆ ที่เขามองว่าผู้นำรัสเซียไม่ได้ต้องการบุกรุกยูเครนแต่อย่างใด เพียงแต่กำลังสร้างคะแนนนิยมในประเทศ ซึ่ง ปธน.ปูตินจะทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนถึงการเลือกตั้งในปี ค.ศ.2024
(ข้อมูลส่วนหนึ่งได้มาจากรายงานของ Agence France-Presse)