สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างแหล่งข่าวว่า สหรัฐฯ จะยังไม่ถอนระบบยิงขีปนาวุธพิสัยกลาง ไทฟอน (Typhon) ออกจากฟิลิปปินส์ ตามที่ทางการจีนเรียกร้องมา ท่ามกลางความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
ระบบไทฟอน สามารถยิงขีปนาวุธร่อนที่โจมตีถึงเป้าหมายในประเทศจีนได้ ซึ่งสหรัฐฯ นำระบบนี้ไปติดตั้งในฟิลิปปินส์เป็นครั้งแรกระหว่างการซ้อมรบเมื่อต้นปีนี้ และยังคงอยู่ที่นั่นจนถึงปัจจุบัน
จีนและรัสเซียต่างประณามการติดตั้งระบบยิงขีปนาวุธนี้ในแถบอินโดแปซิฟิก และกล่าวหากรุงวอชิงตันว่าสนับสนุนให้มีการแข่งขันสะสมอาวุธในภูมิภาคนี้
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน หลิน เจียน มีแถลงการณ์ในวันพฤหัสบดีว่า มีความกังวลอย่างยิ่งต่อการที่มีระบบไทฟอนอยู่ในฟิลิปปินส์ต่อไป "ถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติต่าง ๆ ในภูมิภาค และเร่งให้เกิดการเผชิญหน้าทางภูมิรัฐศาสตร์มากยิ่งขึ้น"
เจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์กล่าวว่า กองทัพฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ยังคงฝึกฝนการใช้ระบบขีปนาวุธนี้ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะลูซอนทางเหนือของฟิลิปปินส์ ติดกับพื้นที่ทะเลจีนใต้และไม่ไกลจากบริเวณช่องแคบไต้หวัน พร้อมกล่าวว่า ยังไม่มีสัญญาณว่าสหรัฐฯ จะนำระบบขีปนาวุธนี้กลับไปหลังการซ้อมรบที่จะสิ้นสุดลงในเดือนนี้
ด้านโฆษกกองทัพบกฟิลิปปินส์ พันเอกลูอี เดมา-อลา กล่าวกับรอยเตอร์ในวันพุธว่า การซ้มอรบยังคงดำเนินอยู่และขึ้นอยู่กับกองทัพบนสหรัฐฯ ประจำภาคพื้นแปซิฟิก (United States Army Pacific - USARPAC) ว่าจะนำระบบไทฟอนกลับไปเมื่อไร ขณะที่เจ้าหน้าที่ของ USARPAC ระบุว่า ทางฟิลิปปินส์อนุญาตให้ขีปนาวุธนี้ติดตั้งต่อไปได้หลังเดือนกันยายน
กองทัพบกสหรัฐฯ นำระบบไทฟอนไปติดตั้งเป็นครั้งแรกที่ฟิลิปปินส์เมื่อเดือนเมษายน โดยบอกว่าเป็น "ก้าวสำคัญในความเป็นพันธมิตรกับฟิลิปปินส์" โดยระบบนี้สามารถยิงขีปนาวุธ SM-6 และโทมาฮอว์กที่มีพิสัยทำการราว 1,600 กม.
เอกสารด้านการทหารของทางการสหรัฐฯ ระบุว่า กองทัพอเมริกันเตรียมส่งขีปนาวุธ SM-6 มากกว่า 800 ลูก ไปประจำการที่แถบเอเชียแปซิฟิกในช่วง 5 ปีข้างหน้า และมีจรวดโทมาฮอว์กอยู่ในคลังอาวุธของสหรัฐฯ แล้วหลายพันลูก
ที่ผ่านมา จีนประณามการติดตั้งระบบไทฟอนในฟิลิปปินส์หลายครั้ง รวมทั้งในเดือนพฤษภาคม เมื่อโฆษกกระทรวงกลาโหมจีน กล่าวว่า ฟิลิปปินส์และสหรัฐฯ ได้นำ "ความเสี่ยงครั้งใหญ่ต่อการเกิดสงครามเข้ามาในภูมิภาคนี้แล้ว"
ด้านสหรัฐฯ ตอบโต้ว่า จีนเองได้ติดตั้งจรวดต่อต้านเรือและขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานบนเกาะเทียมอย่างน้อยสามแห่งในพื้นที่ทะเลจีนใต้ที่จีนกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์อย่างไม่ชอบธรรมเช่นกัน
- ที่มา: รอยเตอร์
กระดานความเห็น