ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สหรัฐฯ จับมือชาติอาเซียน เพิ่มความแข็งแกร่งทางทหาร


สหรัฐฯ ส่งทหารเข้าร่วมการซ้อมรบที่ชื่อว่า ซูเปอร์ การูดา ชีลด์ (Super Garuda Shield) ที่จังหวัดชวาตะวันออกของอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2024
สหรัฐฯ ส่งทหารเข้าร่วมการซ้อมรบที่ชื่อว่า ซูเปอร์ การูดา ชีลด์ (Super Garuda Shield) ที่จังหวัดชวาตะวันออกของอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2024

สหรัฐฯ ประกาศเพิ่มความร่วมมือทางทหารกับพันธมิตรในแถบอินโดแปซิฟิกหลายประเทศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ พร้อมไปกับการขยายความสัมพันธ์กับประเทศที่ไม่ใช่พันธมิตรที่มีนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด อย่างเช่นอินโดนีเซียด้วย

ทหารอเมริกันและทหารอินโดนีเซียใช้เวลาว่างจากการซ้อมรบที่จังหวัดชวาตะวันออกของอินโดนีเซีย แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและร่วมฝึกซ้อมกีฬาชนิดต่าง ๆ รวมทั้งอเมริกันฟุตบอล และวอลเลย์บอล

สหรัฐฯ ส่งทหาร 2,500 คนเข้าร่วมการซ้อมรบที่ชื่อว่า ซูเปอร์ การูดา ชีลด์ (Super Garuda Shield) เป็นเวลาสองสัปดาห์ ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมต่อเนื่องถึงเดือนกันยายน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามกระชับความสัมพันธ์ทางทหารในภูมิภาคนี้

นอกจากนี้ยังมีโครงการบริการด้านสาธารณสุขชั่วคราวให้แก่ประชาชนที่เขตปกครองซิโดอาร์โจ รีเจนซี ใกล้กับจุดที่มีการซ้อมรบ

เคลลี กรีเอโก นักวิเคราะห์ด้านการทหารแห่งสถาบัน Stimson Center ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า "ในเบื้องต้นการซ้อมรบนี้คือรูปแบบหนึ่งของการทูตด้านการทหาร และมีจุดประสงค์เพื่อส่งสัญญาณทางการเมืองซึ่งบ่อยครั้งมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์กว่าประโยชน์ทางการทหารเสียอีก"

การซ้อมรบครั้งนี้มีมีทหารเข้าร่วมทั้งหมด 5,500 คน จากมากกว่า 12 ประเทศ รวมทั้งจากแคนาดา ฝรั่งเศส อังกฤษ ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น ไทย และสิงคโปร์

แต่หนึ่งในประเทศมหาอำนาจที่มิได้เข้าร่วมในการซ้อมรบนี้ คือ จีน ซึ่งมีข้อพิพาทเรื่องทะเลจีนใต้กับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ รวมทั้ง อินโดนีเซีย เวียดนามและฟิลิปปินส์ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ทหารอินโดนีเซียกล่าวปฏิเสธแนวคิดที่ว่าการซ้อมรบครั้งนี้ที่มีอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ คือการเลือกข้างระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

พลเรือโทมามาน เฟอร์มานซียาห์ ผู้บัญชาการการซ้อมรบและการฝึกฝนกำลังทหารของอินโดนีเซีย กล่าวว่า อินโดนีเซียไม่ได้เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ และจะเลือกเฉพาะภารกิจที่ดีที่สุดสำหรับอินโดนีเซียเองเท่านั้น

ส่วนหนึ่งของภารกิจที่ดีที่สุดดังกล่าว คือการร่วมฝึกซ้อมบัญชาการและควบคุมกองกำลัง และการฝึกปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบกที่มีทหารจากหลายประเทศเข้าร่วม

ราห์มัน ยาคูบ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากสถาบัน Lowy institute ในนครซิดนีย์ กล่าวว่า "เรือรบของกองทัพเรืออินโดนีเซียสามารถสื่อสารโดยตรงกับเรือรบสหรัฐฯ ผ่านการฝึกซ้อมที่ซับซ้อนและออกแบบมาอย่างดี ตา่งกับการซ้อมรบระหว่างจีนกับอินโดนีเซียซึ่งค่อนข้างเรียบง่าย ไม่สลับซับซ้อน"

ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้กล่าวด้วยว่า เจ้าหน้าที่กองทัพเรือผู้หนึ่งบอกกับตนว่า การซ้อมรบระหว่างอินโดนีเซียกับจีนนั้นธรรมดาจนสามารถใช้เรือประมงในการฝึกซ้อมได้

ทั้งนี้ สถาบัน Lowy Institute ระบุว่า ระหว่างปี 2021 - 2023 สหรัฐฯ ซ้อมรบร่วมกับประเทศในอาเซียน 525 ครั้ง ถือเป็นประเทศที่มีการฝึกซ้อมทางการทหารมากที่สุดในภูมิภาคนี้

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG