ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ปัญหาและข้อกังวล ปมสหรัฐฯ ขาดดุล ‘นักศึกษา’ กับจีน


ธงชาติจีนและสหรัฐฯ (ที่มา: AP)
ธงชาติจีนและสหรัฐฯ (ที่มา: AP)

แง่มุมหนึ่งของการเดินทางไปศึกษาในต่างประเทศ คือการสำรวจพรมแดนวัฒนธรรมและวิถีชีวิตใหม่ ๆ แต่สำหรับสหรัฐฯ และจีน สองประเทศที่มีความตึงเครียดทางการเมือง จำนวนนักเรียนที่ข้ามฝั่งไปศึกษาในอีกแห่งหนึ่งนั้นมีจำนวนต่างกันจนน่ากังวลในสายตาของนักวิเคราะห์

มายา อัลส์ชูเลอร์ ชาวอเมริกันเล่าประสบการณ์การเดินทางไปรับการศึกษาที่ประเทศจีน การตัดสินใจของเธอมีขึ้นในช่วงที่บรรยากาศความสัมพันธ์ของรัฐบาลสองประเทศมีความตึงเครียด และเป็นหนึ่งในจำนวนนักเรียนอเมริกันทั้งหมด 700 คน ที่เดินทางไปจีนเมื่อปี 2023

เธอบอกว่า “ทุกคนแทบจะมองพวกเราเป็นตาเดียว พวกนักเรียนอเมริกัน”

ในทางกลับกัน ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่มีหน้าที่ออกวีซ่านักเรียนนักศึกษา รายงานว่ามีจำนวนนักเรียนจีนเข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ จำนวนราว 290,000 คนในช่วงเวลาเดียวกัน

อาลี ไวน์ นักวิเคราะห์ด้านสหรัฐฯ - จีน กล่าวว่า “เมื่อดูจากเดิมพันของความสัมพันธ์ทวิภาคีที่มีความสำคัญที่สุดของโลก คุณต้องการให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างนักเรียนมากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง” และกล่าวด้วยว่าการแลกเปลี่ยนนักเรียนนักศึกษา จะสร้างความเข้าอกเข้าใจระหว่างกันทั้งในแง่ภาษาและวัฒนธรรม

นักศึกษาส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ เลือกที่จะไปเรียนในที่ ๆ มีความใกล้เคียงทางวัฒนธรรมมากกว่า อ้างอิงจากแนวโน้มที่วิทยาลัย Wellesley College สะท้อน

เจนนิเฟอร์ โธมัส-สตาร์ค จาก Wellesley College กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 นักเรียนของเธอค่อนข้างระมัดระวังในการเลือกจุดหมายปลายทางที่จะไปเรียน และพบว่า จำนวนผู้ลงชื่อไปเรียนที่อังกฤษนั้นเพิ่มขึ้น รองลงมาคือ เดนมาร์ก

อีกด้านหนึ่ง เรเวน หวัง นักศึกษาชาวจีน ตัดสินใจมาศึกษาในสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัย George Washington University โดยเธอกล่าวว่า การมาเรียนที่สหรัฐฯ ทำให้ได้รับรู้มุมมองใหม่ที่ต่างไปสิ่งที่เพื่อน ๆ ในจีนได้เรียน

หวังกล่าวว่าเพื่อน ๆ ที่จีนส่วนใหญ่ได้ศึกษาทฤษฎีแนวสังคมนิยมหรือเรื่องลัทธิมาร์กซ์ แต่ที่สหรัฐฯ เธอได้เรียนเรื่องประชาธิปไตยและทุนนิยมด้วย และคิดว่าที่แห่งนี้พยายามเต็มที่ในการให้การศึกษาในแบบที่ไม่มีอคติ

ด้านอัลส์ชูเลอร์ที่ไปจีนมา ก็มองว่าประสบการณ์ที่นั่นต่างไปจากภาพของจีนที่เธอคิดไว้ในอดีต

อัลส์ชูเลอร์เล่าว่า ก่อนหน้านี้คิดว่าจีนเป็นหลุมที่ข้อมูลข่าวสารจากข้างนอกเข้าไม่ถึง ผู้คนรับสารจากโฆษณาชวนเชื่อ และเป็นสถานที่ที่กดขี่ ซึ่งในบางระดับก็ถือว่ามีความจริง แต่การใช้ชีวิตที่นั่นทำให้เห็นสิ่งที่เปลี่ยนความคิดที่มีไปมาก และหวังว่าจะได้กลับไปที่จีนอีกในอนาคต

ส่วนหวังกล่าวว่า เธอวางแผนจะหางานทำในสหรัฐฯ หลังสำเร็จการศึกษา

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG