ภาวะการแข่งขันอันดุเดือดระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังดำเนินอยู่นี้ กำลังเป็นปัจจัยการยกระดับความตึงเครียดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อสองมหาอำนาจพยายามสร้างอิทธิพลต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งกรณีข้อพิพาททางดินแดนในแถบทะเลจีนใต้ และประเด็นการมีอิสรภาพของไต้หวันด้วย
อิทธิพลของจีนในโลกนั้นมีความชัดเจนขึ้นระดับหนึ่งเมื่อความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership - RCEP) เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคมของปี 2022
ความตกลง RCEP ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีจีนเป็นผู้ผลักดันจนได้สมาชิกเข้าร่วม 14 ประเทศ ที่ประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์
ในการประชุมสุดยอดจีน-อาเซียนครั้งที่ 25 ซึ่งจัดขึ้นที่กัมพูชาเมื่อเดือนที่แล้ว นายกรัฐมนตรีหลี เค่อเฉียง ของจีนระบุในคำปราศรัยว่า ปริมาณการค้าระหว่างจีนและอาเซียนพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 798,400 ล้านดอลลร์ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ไปแล้ว
นายกรัฐมนตรีหลี กล่าวว่า “เราได้ทำงานร่วมกันเพื่อให้มีการลงนามและบังคับใช้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่นำมาซึ่งการจัดตั้งเขตการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นการผลักดันการพัฒนาการที่มีการเชื่อมต่อถึงกันและเปิดกว้างให้ก้าวไปอีกระดับหนึ่ง”
อย่างไรก็ตาม ฮันเตอร์ มาร์สตัน ผู้ที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอก ที่ Australian National University เกี่ยวกับการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ความเห็นว่า ในเวลานี้อาจเร็วเกินไปที่จะตัดสินว่า RCEP นั้นนำมาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญต่ออาเซียนจริงหรือไม่
มาร์สตัน บอกกับผู้สื่อข่าว วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ว่า “การค้าระหว่างอาเซียนและจีนพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ใน (ช่วง 10 เดือนแรกของ) ปี 2022 ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูกัน แต่สิ่งที่ยากก็คือ ไม่มีใครบอกได้ว่า การขยายตัวนี้เป็นเพราะ RCEP เป็นหลักจริงหรือไม่” และว่า “RCEP เพียงแค่ลดการกีดกันทางการค้าและทำให้การค้าขายมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ที่ผ่านมา ยังเป็นเรื่องยากที่จะกล่าวว่า เรื่อง(ความตกลง)นี้นำมาซึ่งผลประโยชน์อันชัดเจนและเห็นผลทันทีแล้ว”
ในฝ่ายของสหรัฐฯ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เปิดตัวกรอบเศรษฐกิจภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework – IPEF) เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อหวังต้านแรงกระเพื่อมของ RCEP
แผนงานดังกล่าวซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 14 ประเทศ ซึ่งรวมถึง ออสเตรเลีย อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ตั้งเป้าที่จะยืนยันการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้และเพื่อนำเสนอตัวเองเป็นทางเลือกนอกเหนือจากแผน RCEP ของรัฐบาลกรุงปักกิ่งให้กับประเทศอื่น ๆ ด้วย
ปธน.ไบเดน กล่าวในระหว่างพิธีเปิดตัว IPEF ที่กรุงโตเกียวว่า “อนาคตของเศรษฐกิจศตวรรษที่ 21 นั้นส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในอินโด-แปซิฟิก – ภูมิภาคของเรา” และว่า “เราจะทำการเขียนกฎใหม่ ๆ ขึ้น”
เอียน เฉิน ศาสตราจารย์จาก Institute of Political Science แห่ง Sun Yat-sen University ในไต้หวัน แสดงความไม่แน่ใจว่า ว่า IPEF จะสามารถสร้างผลกระทบใด ๆ ต่อความเป็นจริงที่ว่าเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พึ่งพาจีนมาตลอดได้ในเร็ว ๆ นี้จริงหรือไม่
ศาสตราจารย์เฉิน บอกกับผู้สื่อข่าว วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ว่า ตนไม่คิดว่า แผนงานของสหรัฐฯ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระยะสั้น โดยระบุว่า “IPEF ไม่ได้บังคับให้สมาชิกต้องผูกติดกับพันธกรณีแบบเข้มงวด ดังนั้น ประเทศต่าง ๆ จึงสามารถกำหนดเองว่า จะมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง และด้วยเงื่อนไขแบบหลวม ๆ นี้ จึงเป็นเรื่องยากที่จะไปให้ถึงเป้าหมายที่ต้องการได้”.
จอช เคอร์แลนต์ซิค นักวิจัยอาวุโสด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จาก Council on Foreign Relations ไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่า แผน IPEF ของปธน.ไบเดนนั้น เกิดขึ้นมาเพียงเพื่อแข่งกับ RCEP ของจีนเท่านั้น
เคอร์แลนต์ซิค บอกกับ วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลาง ว่า “กรอบเศรษฐกิจภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก นั้นอาจเป็นคล้าย ๆ การตอบโต้การดำเนินแผนงานทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ของจีนในระดับภูมิภาค แต่โดยทั่วไปแล้ว เป็นการตอบโต้ข้อร้องเรียนที่ว่า สหรัฐฯ ไม่มีนโยบายด้านการค้าในภูมิภาคนี้เลยมากกว่า” พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่า แผนงานนี้ไม่ใช่เป็นเพียงการตอบโต้จีนเพียงอย่างเดียว
นักวิจัยยังกล่าวด้วยว่า “สหรัฐฯ นั้นได้ละทิ้งความเป็นผู้นำด้านการค้าและการมีส่วนร่วมทางการค้ากับเอเชียมาเป็นเวลานานแล้ว ... แต่กรอบเศรษฐกิจภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งเป็นเหมือนแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบหลอก ๆ ไม่น่าจะช่วยอะไรได้มาก”
รายงานข่าวระบุว่า ขณะที่ รายละเอียดหลายอย่างของ IPEF ยังไม่ได้การเปิดเผยออกมา ฮันเตอร์ มาร์สตัน จาก Australian National University คาดว่า ปธน.ไบเดน น่าจะออกมาประกาศแนวคิดริเริ่มทางเศรษฐกิจอื่น ๆ เพิ่มเติมในปี 2023 และกล่าวว่าด้วยว่า แม้ IPEF จะดูเป็นการเคลื่อนไหวเรื่องเชิงสัญลักษณ์มากกว่า การที่สมาชิกอาเซียน 7 ประเทศเข้าร่วมด้วยแสดงให้เห็นว่า การมีส่วนร่วมในภูมิภาคนี้ของสหรัฐฯ ยังคงเป็นเรื่องที่ประเทศต่าง ๆ สนใจอยู่มาก
ข้อมูลจากเอกสาร 2022 ASEAN Investment Report ชี้ว่า รัฐบาลกรุงวอชิงตันนั้นเป็นผู้นำด้านการลงทุนในภูมิภาคนี้ ด้วยเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้น 41% มาที่ระดับ 40,000 ล้านดอลลาร์ในปี ค.ศ. 2021 ขณะที่ การลงทุนของจีนพุ่งสูงถึง 96% มาที่เกือบ 14,000 ล้านดอลลาร์ในปีเดียวกัน
ในประเด็นนี้ มาร์สตันมองว่า แม้สหรัฐฯ จะยังเป็นผู้นำในด้านการลงทุนในอาเซียน ภูมิภาคนี้กำลังกลายมาเป็นเป้าหมายการแข่งขันจากหลายขั้วเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว
และนอกเหนือจากความพยายามของกรุงวอชิงตันและกรุงปักกิ่งในการแย่งชิงความเป็นผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจแล้ว นักวิเคราะห์กล่าวว่า ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่ต้องจับตามองกันด้วย
อลัน หยาง ศาสตราจารย์จาก National Changchi University ในไต้หวัน บอกกับ วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลางว่า ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศกังวลว่า การที่ ส.ส.แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เยือนไต้หวันเมื่อไม่กี่เดือนก่อนนั้นอาจเป็นจุดที่ทำให้จีนดำเนินการทางทหารมากขึ้น
ส่วน เคอร์แลนต์ซิค จาก Council on Foreign Relations กล่าวว่า การที่จีนเดินหน้าสั่งสมกำลังทหารในทะเลจีนใต้ พร้อม ๆ กับการที่กรุงวอชิงตันพยายามปิดกั้นจีนไม่ให้เข้าถึงชิปเซมิคอนดักเตอร์ล้ำสมัย ก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงการเผชิญหน้าที่หนักหน่วงขึ้นระหว่างสองมหาอำนาจ ขณะที่ ประเด็นไต้หวันน่าจะเป็นเรื่องที่ต้องกังวลกันมากที่สุดในปีหน้าที่จะมาถึง
เคอร์แลนต์ซิค กล่าวทิ้งท้ายว่า “สหรัฐฯ และจีนต่างกำลังเข้ามาร่วมวงกับไต้หวันมากขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจมุ่งไปสู่ความน่าจะเป็นที่จะกลายมาเป็นประเด็นขัดแย้งได้แล้ว”
- ที่มา: วีโอเอ