รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คามาลา เเฮร์ริส กล่าวขณะเยือนฟิลิปปินส์ ในวันจันทร์ว่า สหรัฐฯ ยังคงยึดมั่นในสัญญากับฟิลิปปินส์เรื่องการร่วมปกป้องกัน ซึ่งส่งสัญญาณถึงความสำคัญของ "ความตกลงมะนิลา" หรือ Manila Pact ระหว่างสองประเทศเมื่อปี ค.ศ. 1951
"เรายืนเคียงข้างคุณ ในการปกป้องกฎและบรรทัดฐานระหว่างประเทศ ในเรื่องทะเลจีนใต้" รองประธานาธิบดีแฮร์ริสกล่าวขณะหารือกับ ประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มาร์กอส จูเนียร์ในวันจันทร์ "การโจมตีด้วยอาวุธต่อกองทัพฟิลิปปินส์ รวมทั้งเรือและเครื่องบินสาธารณะ จะทำให้ความตกลงทางกลาโหมร่วมกันมีผลปฏิบัติ"
ความตกลง Manila Pact เมื่อ 71 ปีก่อน ระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงไทยและฟิลิปปินส์ ระบุถึงหลักการร่วมปกป้องกันเเละกันทางทหารหากประเทศคู่สัญญาถูกโจมตี
การเยือนฟิลิปปินส์ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามโดยรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ที่จะเชื่อมสัมพันธ์กับประเทศหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคนี้ให้เเน่นแฟ้นขึ้น ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นที่เกี่ยวกับจีน และการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการทูตของรัฐบาลปักกิ่งในภูมิภาคนี้
ในบรรดา 5 ประเทศที่สหรัฐฯ ทำสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรด้วยในอินโด-แปซิฟิก ฟิลิปปินส์อยู่ใกล้เกาะไต้หวันที่สุด ขณะที่บริเวณดังกล่าวกำลังเป็นประเด็นร้อนระหว่างสหรัฐฯ และจีน
ก่อนหน้านี้ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์เกิดรอยร้าวในช่วงที่ โรดริโก ดูเตรเต เป็นผู้นำฟิลิปปินส์ และเดินเกมการทูตใกล้ชิดกับจีน นอกจากนั้น ในช่วง 6 ปีที่เขาเป็นผู้นำ ฟิลิปปินส์ยังสร้างจุดอ่อนไหวในความสัมพันธ์สหรัฐฯ จากมาตรการปราบปรามยาเสพติดที่รุนเเรงจนถูกกล่าวหาว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชน และนั่นยังไม่รวมถึงการที่เขาใช้คำสบถเรียก บารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯในปี ค.ศ. 2016
ดังนั้น การเดินทางมาเยือนฟิลิปปินส์ในครั้งนี้ของแฮร์ริสจึงสะท้อนความพยายามรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และรัฐบาลกรุงมะนิลา
ในครั้งนี้ เเฮร์ริสและมาร์กอส จูเนียร์ หารือถึงการต่อยอดความร่วมมือของทั้งสองประเทศ ซึ่งรวมถึงการเพิ่มสถานที่ตั้งทางกลาโหมรอบ ๆ ฟิลิปปินส์
จุดหมายต่อไปของรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คือ เกาะพาลาวัน ในทะเลจีนใต้ ซึ่งห่างจากหมู่เกาะสแปรตลีย์ ไป 330 กิโลเมตร โดยบริเวณดังกล่าวเป็นเขตพิพาททางดินเเดนของจีน บรูไน มาเลเซีย ไต้หวัน เวียดนามและฟิลิปปินส์
นอกจากนั้น เธอจะเยือนชุมชนชาวประมงที่พาลาวัน เพื่อส่งสัญญาณว่า การทำประมงผิดกฎหมายจะต้องเผชิญกับผลลัพธ์ โดยดัชนีการทำประมงล่าสุด IUU Fishing Index ระบุว่า จีนเป็นผู้กระทำผิดอันดับหนึ่งจากทั้งหมด 152 ประเทศที่ติดชายฝั่งทะเล ในเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย รวมทั้งการจับสัตว์น้ำโดยไม่บันทึกรายงาน
เป็นที่คาดหมายว่า รองประธานาธิบดีแฮร์ริส จะยืนยันการสนับสนุนของสหรัฐฯ ต่อคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเมื่อ 6 ปีก่อนที่ปฏิเสธคำอ้างของจีนเรื่องดินเเดนในตะเลจีนใต้
ทั้งนี้ เดือนพฤศจิกายนเป็นช่วงเวลาที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเจ้าภาพ 3 เวทีประชุมสุดยอดที่สำคัญระดับโลก โดยประธานาธิบดีไบเดนร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ที่กรุงพนมเปญของกัมพูชา และประชุมจี-20 ที่เกาะบาหลีในอินโดนีเซีย ขณะที่ รองประธานาธิบดีแฮร์ริส ร่วมการประชุมเอเปคที่กรุงเทพฯ
และในวันจันทร์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน พบกับรัฐมนตรีกลาโหมอินโดนีเซีย พราโบโว สุเบียนโต ที่กรุงจาการ์ตา ก่อนเดินทางไปจังหวัดเสียมราฐในกัมพูชาในลำดับถัดไป
- ที่มา: วีโอเอ