ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้แทนยูเอ็นชื่นชมไทยตั้งคณะทำงานช่วยธนาคารตรวจสอบธุรกรรมค้าอาวุธเมียนมา


ทอม แอนดรูว์ส ผู้เขียนรายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในเมียนมา แถลงข่าวในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2024
ทอม แอนดรูว์ส ผู้เขียนรายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในเมียนมา แถลงข่าวในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2024

ทอม แอนดรูว์ส ผู้เขียนรายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในเมียนมา กล่าวแสดงความยินดีกับมาตรการของไทยในการจัดตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อช่วยธนาคารพาณิชย์ของไทยตรวจสอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายอาวุธกับรัฐบาลทหารเมียนมา

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลไทยประกาศจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ หลังจากรายงานของแอนดรูว์สเปิดเผยบทบาทของธนาคารพาณิชย์ของไทยที่มีส่วนช่วยเหลือทางการเงินแก่รัฐบาลทหารเมียนมาในการซื้ออาวุธ

ผู้เขียนรายงานของยูเอ็น กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับวีโอเอในวันเสาร์ว่า "ถือเป็นการก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง และเป็นสัญญาณว่าไทยดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังเพื่อยุติการซื้อขายอาวุธเหล่านี้"

รายงาน Banking on the Death Trade: How Banks and Governments Enable the Military Junta in Myanmar ระบุว่า มาตรการลงโทษระหว่างประเทศทำให้รัฐบาลทหารเมียนมาลดการซื้ออาวุธผ่านระบบการเงินโลกลงไปราว 1 ใน 3 ระหว่างปีงบประมาณ 2022 - 2023 เป็นมูลค่าราว 253 ล้านดอลลาร์

รายงานชิ้นนี้ระบุว่า บริษัทต่าง ๆ ในไทยรับหน้าที่ให้บริการด้านการเงินและการจัดหาอาวุธแทนที่ธุรกิจในสิงคโปร์ที่เคยค้าขายกับสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC - State Administration Council) ซึ่งเป็นชื่อทางการของรัฐบาลทหารเมียนมา หลังรัฐบาลสิงคโปร์ดำเนินการปิดบัญชีทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกองทัพเมียนมา

FILE - Military personnel participates in a parade on Armed Forces Day in Naypyitaw, Myanmar, March 27, 2021.
FILE - Military personnel participates in a parade on Armed Forces Day in Naypyitaw, Myanmar, March 27, 2021.

รายงานเผยว่า ในปี 2023 บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยดำเนินการจัดส่งอาวุธและวัสดุต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกันเป็นมูลค่ากว่า 120 ล้านดอลลาร์ไปให้รัฐบาลทหารเมียนมา โดยตัวเลขนี้แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าจากปี 2022

หลังจากรายงานดังกล่าวเปิดเผยออกมา ตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ไทยได้กล่าวกับคณะกรรมาธิการด้านความมั่นคงแห่งชาติของสภาผู้แทนราษฎรไทยว่า ธนาคารต่าง ๆ ไม่มีศักยภาพเพียงพอในการตรวจสอบธุรกรรมทั้งหมดกับเมียนมาได้ ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจชุดใหม่โดยกระทรวงการต่างประเทศของไทย

แอนดรูวส์หวังว่า การจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจนี้จะช่วยให้ไทยเดินรอยตามสิงคโปร์ในการตัดการทำธุรกรรมกับรัฐบาลทหารเมียนมาได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยยังมิได้ระบุว่าคณะทำงานชุดนี้จะเริ่มการตรวจสอบเมื่อใด และธุรกรรมประเภทไหนกับเมียนมาที่จะตกเป็นเป้าหมาย

ฌอน เทอร์เนลล์ นักเศรษฐศาสตร์แห่งสถาบัน Lowy ในออสเตรเลีย กล่าวกับวีโอเอว่า เป้าหมายของไทยที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ พัฒนาภาคการเงิน และปรับปรุงภาพลักษณ์บนเวทีโลกหลังจากอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารมานานกหลายปี คือแรงจูงใจที่ดีสำหรับคณะทำงานชุดนี้ในการตรวจสอบการซื้ออาวุธของรัฐบาลทหารเมียนมา แม้ว่าวิธีที่นำมาใช้นั้นอาจนุ่มนวลกว่าแนวทางของสิงคโปร์ก็ตาม

นักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้เชื่อว่า ต่อจากนี้รัฐบาลทหารเมียนมาอาจพยายามหาประเทศอื่นที่เปิดรับการทำธุรกรรมของตนแทนไทยและสิงคโปร์ผ่านช่องโหว่ต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งอาจต้องเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินที่เป็นทางการน้อยลง หรืออาจต้องยอมจ่ายค่าธรรมเนียมที่แพงขึ้น หรือแม้แต่ยอมจ่ายเงินสินบน รวมทั้งใช้ช่องทางที่ไม่เป็นทางการมากขึ้นด้วย

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG