ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ระบุระหว่างการประชุมกับผู้แทนกองทัพจากประเทศพันธมิตรทั้งหลายที่เยอรมนีในวันศุกร์ว่า ยูเครนต้องการสรรพกำลังด้านอาวุธพิสัยไกลเพื่อโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนของรัสเซีย “เพื่อว่า รัสเซียจะได้มีแรงจูงใจที่จะแสวงหาสันติภาพ”
เซเลนสกี แจ้งต่อสมาชิกกลุ่ม Ukraine Defense Contact Group ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯ และประกอบด้วยสมาชิกจากกว่า 50 ชาติในการจัดหาการสนับสนุนทางทหารให้กรุงเคียฟว่า “เราต้องทำให้เมืองต่าง ๆ ของรัสเซีย และแม้แต่ทหารรัสเซียเอง คิดว่า อะไรกันแน่คือสิ่งที่พวกเขาต้องการ: สันติภาพ หรือ ปูติน”
นี่เป็นครั้งแรกที่ผู้นำยูเครนเดินทางมายังฐานทัพอากาศแรมสไตน์ในเยอรมนีเพื่อร่วมหารือกับสมาชิกกลุ่มนี้
เซเลนสกียังชี้ด้วยว่า ในเวลานี้ สหรัฐฯ ยังไม่ยอมเปลี่ยนจุดยืนนโยบายของตน ให้ยูเครนใช้อาวุธที่กรุงวอชิงตันส่งมาในการยิงใส่เป้าหมายที่อยู่ลึกเข้าไปในอาณาเขตของรัสเซีย โดยทำเนียบขาวแสดงความกังวลว่า การเปิดทางให้ยูเครนทำเช่นนั้นจะเป็นการดึงสหรัฐฯ เข้ามาพัวพันกับความขัดแย้งกับรัสเซียโดยตรง
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามเกี่ยวกับคำร้องขอของเซเลนสกีในการใช้อาวุธจากสหรัฐฯ โจมตีรัสเซีย ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวเพียงว่า ไม่มีอาวุธเพียงชิ้นใดชิ้นหนึ่งที่จะเป็นตัวตัดสินในสงครามครั้งนี้ได้ และว่า “ยูเครนมีความสามารถ(ทางทหาร)ของตนเองมากพออยู่ที่จะจัดการกับเป้าหมายที่อยู่ไกลเหนือระยะของขีปนาวุธ ATACMS หรือแม้แต่ของขีปนาวุธ Storm Shadow ก็ตาม”
อาวุธทั้งสองแบบที่ออสตินพูดถึงนั้นคือ ขีปนาวุธพิสัยไกลที่สหรัฐฯ อังกฤษและฝรั่งเศส ส่งมอบให้ยูเครนใช้งาน
รมต.ออสติน กล่าวด้วยว่า สหรัฐฯ จะเดินหน้าทำงานต่อไปเพื่อให้ยูเครนอยู่ในจุดที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อวันนั้นในอนาคตมาถึงจริง
อย่างไรก็ตาม พันธมิตรอื่น ๆ เช่น รัฐมนตรีกลาโหมแคนาดา บิลล์ แบลร์ กล่าวในวันศุกร์ว่า กลุ่มพันธมิตรนี้ควรสนับสนุนสิ่งที่เป็นข้อเรียกร้อง “ที่สมเหตุสมผลมาก ๆ” ของเซเลนสกี สำหรับสิ่งที่จะนำมาใช้โจมตีเป้าหมายระยะที่ไกลลึกเข้าไปในรัสเซีย พร้อมกล่าวเสริมว่า ยูเครนได้ให้คำมั่นว่า จะใช้อาวุธต่าง ๆ ภายใต้ข้อกำกับของกฎหมายระหว่างประเทศด้วย
ส่วน บอริส พิสโตเรียส รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนี บอกกับผู้สื่อข่าวในวันศุกร์ว่า ตนรู้สึก “ผิดหวัง” เกี่ยวกับความล่าช้าในการจัดส่งระบบต่อต้านขีปนาวุธแพทริออตซึ่งมีการสัญญาว่าจะส่งให้ยูเครนตั้งแต่เมื่อการประชุมนาโต้ในเดือนกรกฎาคม
รมต.ออสติน ประกาศต่อที่ประชุมกลุ่ม Ukraine Defense Contact Group ว่า สหรัฐฯ จะจัดส่งความช่วยเหลือทางทหารรอบใหม่มูลค่า 250 ล้านดอลลาร์ให้กับยูเครน โดยงบส่วนนี้จะรวมความถึงระบบยิงขีปนาวุธแบบเคลื่อนที่ High Mobility Artillery Rocket System (HIMARS) และพาหนะหุ้มเกราะเพื่อขนส่งเจ้าหน้าที่ทหาร เพื่อช่วยยูเครน “ผลักดันการรุกรานของรัสเซียในวันนี้ และป้องปรามการรุกรานของรัสเซียในวันพรุ่งนี้”
รมว.กลาโหมสหรัฐฯ ย้ำด้วยว่า ยูเครนต้องเดินหน้ายกระดับความสามารถในการผลิตอาวุธของตนเอง เพื่อเป้าหมายความมั่นคงในระยะยาว
ขณะเดียวกัน เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ระบุระหว่างร่วมการแถลงข่าวที่นอร์เวย์ในวันศุกร์ว่า พันธมิตรของยูเครนควรเร่งจัดหาอาวุธเพิ่ม และว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ต้องสำนึกได้แล้วว่า “จะไม่สามารถเอาชนะในสนามรบได้ แต่ต้องยอมรับสันติภาพที่ยืนยาวและเป็นธรรมซึ่งเปิดทางให้ยูเครนคงอยู่ต่อไปในฐานะประเทศที่เป็นอิสระและมีอธิปไตย”
- ข้อมูลบางส่วนมาจากเอพี รอยเตอร์และเอเอฟพี
กระดานความเห็น