ความร้อนในหลายพื้นที่ของไทยที่ราวกับอุณหภูมิสูงถึง 50 องศาเซลเซียส ผสมกับความชื้นในอากาศ ส่งผลให้หน่วยงานท้องถิ่นเตือนประชาชนหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ความร้อนที่พบได้ในปัจจุบันอาจจะดำเนินต่อไปจนกระทั่งหมดฤดูร้อน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมอุตุนิยมวิทยาของไทยเตือนถึงอุณหภูมิความร้อนที่จะเพิ่มสูงขึ้นทั่วทั้งประเทศ ดัชนีความร้อนสูงสุดคาดว่าจะแตะระดับ 54 องศาเซลเซียสในจังหวัดชลบุรีทางตะวันออก และเกาะภูเก็ตในชายฝั่งตอนใต้
แม้ในพื้นที่กรุงเทพฯ จะวัดอุณหภูมิได้ประมาณ 37 องศาเซลเซียส แต่ด้วยความชื้นทำให้รู้สึกว่าอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ตามถนนหนทางจะพบผู้คนใช้ร่มเพื่อป้องกันความร้อน หรือเดินหลบใต้ร่มเงาของสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ
อีกหนึ่งภาพที่อาจจะเห็นได้ คือนักท่องเที่ยวคอยโบกมือเพื่อพัดคลายร้อนให้ตนเอง โดยแม่ค้าริมถนนบริเวณศาลพระพรหม เอราวัณในกรุงเทพฯ กล่าวกับวีโอเอสั้น ๆ ว่า “ร้อนเหลือเกิน”
มักซิมิเลียน เอร์เรรา นักภูมิอากาศวิทยาและประวัติศาสตร์สภาพอากาศ ผู้จัดทำข้อมูลของเว็บไซต์ Extreme Temperatures Around the World ที่คอยตรวจสอบสภาพอากาศโดยอ้างอิงข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า จากความร้อนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงในระดับ 45 องศาเซลเซียสเป็นครั้งแรก
อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า ความร้อนที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ยังได้ทำลายสถิติการใช้ไฟฟ้า โดยประเทศไทยใช้ไฟฟ้ามากกว่า 39,000 เมกะวัตต์ ในวันที่ 6 เมษายน ปีพ.ศ. 2566 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับ 32,000 เมกะวัตต์ในเดือนเมษายน ปีพ.ศ. 2565
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า อุณหภูมิที่สูงในปัจจุบันของประเทศไทยยังไม่ถือว่าเป็น "คลื่นความร้อน"
นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบและสำรวจสภาพอากาศที่กรมอุตุนิยมวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสว่า ประเทศเพื่อนบ้านของไทยเผชิญคลื่นความร้อนมาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน
นายสมควร อธิบายว่า “สภาวะอากาศในไทยไม่ได้เป็นคลื่นความร้อนเหมือนที่เกิดขึ้นในอินเดียและบังคลาเทศ ที่พบว่ามีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียสเป็นเวลาหลายวัน มีการสะสมความร้อน และอุณหภูมิเฉลี่ยก็เพิ่มขึ้นถึง 5 องศาเซลเซียสต่อวัน"
มีรายงานว่าในอินเดียมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 12 คนเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงมากจนเกินไป ขณะที่อีกหลายคนต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ในประเทศไทยมีรายงานว่าพบผู้เสียชีวิต 2 คน ในจำนวนนี้รวมถึงการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ควบคุมการจราจรพื้นที่ตอนใต้ของกรุงเทพฯ ในส่วนอื่น ๆ ของทวีปเอเชียทั้ง จีน ลาว ปากีสถาน และเวียดนาม ต่างมีรายงานที่ชี้ว่าอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นในเดือนเมษายน
อ้างอิงตามรายงานของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ระบุว่า กรมอุตุนิยมวิทยาของไทยแจ้งว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงสิ้นสุดฤดูร้อน และฤดูร้อนจะจบลงกลางเดือนพฤษภาคม
แต่ เชาว์วัฒน์ ศิวะพรชัย นักอุตุนิยมวิทยาในกรุงเทพฯ กล่าวกับวีโอเอว่า อุณหภูมิที่ร้อนจัดอาจเกิดขึ้นยาวนานกว่านั้น
เชาว์วัฒน์ อธิบายว่า “ในประเทศไทย เดือนเมษายนเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดของปี ในช่วงสองถึงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เผชิญเหตุการณ์อุณหภูมิที่สูงกว่าเกณฑ์ปกติ โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ไม่รุนแรงเท่ากับคลื่นความร้อน ปรากฏการณ์ลานีญากำลังแผ่วลง และมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในปลายปีนี้ ซึ่งคาดว่าอุณหภูมิจะสูงกว่าปกติตลอดช่วงที่เหลือของฤดูร้อน”
ปรากฏการณ์ลานีญา คือการเย็นตัวตามธรรมชาติของน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางและตะวันออก ซึ่งเกิดขึ้นทุก ๆ สองถึงสามปี และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทั่วโลก ส่วนปรากฏการณ์เอลนีโญจะตรงกันข้าม คืออุณหภูมิผิวน้ำอุ่นขึ้น ทำให้เกิดสภาพอากาศที่แห้งแล้งมากขึ้นและมีปริมาณน้ำฝนที่ลดลง มีส่วนทำให้เกิดความร้อนจัดในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปัญหาไฟป่าในประเทศไทยยังเป็นอีกปัจจัยของอุณหภูมิที่สูงขึ้น ในเดือนมีนาคม ประเทศไทยเจอเหตุการณ์ไฟป่าหลายแห่งทั่วประเทศ ทั้งในจังหวัดนครนายก เชียงใหม่และเชียงราย ไฟป่าที่เกิดขึ้นส่งผลให้ทางการต้องประกาศเขตวิกฤตไฟป่าในหลายพื้นที่
การเผาที่ดินไร่นาประจำปีของภาคการเกษตร ก็เป็นสิ่งกระตุ้นให้เพลิงไหม้ขยายลามไปทั่วประเทศ
เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับฤดูเพาะปลูกถัดไป เกษตรกรไทยจำนวนมากลักลอบเผาไร่นาอย่างผิดกฎหมายตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม ทำให้เกิดหมอกควันหนาทึบ การปฏิบัติข้างต้นส่งผลให้ประเทศไทยมีคุณภาพอากาศที่แย่ที่สุดในโลกในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ฝุ่น PM2.5 ที่เป็นมลพิษหมอกควันรูปแบบที่อันตรายที่สุด ได้เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่
พลอย พัทธานันท์ อัชชะกุลวิสุทธิ์ นักวิจัยจากสถาบัน Stockholm Environment Institute ศูนย์เอเชีย กล่าวกับวีโอเอผ่านทางอีเมลว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ “สองภัยร้ายด้านสุขภาพ” คือ ความร้อนและมลพิษทางอากาศ
พัทธานันท์ ให้รายละเอียดว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษทางอากาศเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขที่แตกต่างกันที่เรากำลังเผชิญทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สองวิกฤตมาจากสาเหตุรากฐานสองประการที่เหมือนกัน นั่นคือการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลและการเผาเพื่อการเกษตร ซึ่งส่งผลให้เกิดมลพิษที่ทำให้โลกร้อน เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงการสร้างมลพิษทางอากาศในระดับที่เป็นอันตราย เช่น ฝุ่น PM 2.5 จนผู้คนเกิดอาการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
โดยตัวอย่างภัยร้ายต่อสุขภาพดังกล่าว คือ คนงานเกษตรในภาคเหนือที่ต้องทำงานกลางแจ้ง กำลังเผชิญกับสองภัยคุกคาม คืออากาศที่ร้อนจัด และหมอกควันพิษที่ปกคลุมทั่วภาคเหนือ
- ที่มา: วีโอเอ