จีนเผชิญภัยแล้งและคลื่นความร้อนสูงสุดเป็นสถิติใหม่ในช่วงฤดูร้อนปีนี้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเป็นภัยธรรมชาติร่วมกันที่ส่งผลรุนแรงและคุกคามความมั่นคงด้านอาหาร พลังงานและเศรษฐกิจของจีน
เกิดสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรงในหลายพื้นที่ของจีนในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นคลื่นความร้อนที่รุงแรงที่สุดในประเทศจีนนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บสถิติเมื่อปีค.ศ. 1961
มณฑลเสฉวนคือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเมื่อต้องเผชิญกับภัยแล้งและคลื่นความร้อนนานกว่า 70 วัน อุณหภูมิเพิ่มขึ้นแตะระดับ 43 องศาเซลเซียส ขณะที่เขตเป่ยเป้ยในนครฉงชิ่งมีอุณหภูมิสูงถึง 45 องศาเซลเซียส
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ภัยแล้งครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตการเกษตร ความมั่นคงด้านพลังงาน และเศรษฐกิจโดยรวม และยังส่งผลต่อความมั่นใจของประชาชนที่มีต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ภัยแล้งส่งแรงสะเทือนถึงการเมือง
ไม่เพียงแต่จีนเท่านั้นที่เผชิญความยากลำบากจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก เพราะคลื่นความร้อนได้ปกคลุมหลายส่วนของยุโรปในช่วงฤดูร้อน ขณะที่สหรัฐฯ ก็เผชิญกับไฟป่าบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นในภาคตะวันตกของประเทศเช่นกัน
ถึงกระนั้น สำหรับจีน ดูเหมือนความแปรปรวนของธรรมชาติได้ส่งแรงสะเทือนถึงเสถียรภาพทางการเมืองด้วย
สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า หน่วยงานต่าง ๆ ของจีน รวมทั้งกระทรวงการเกษตรและกิจการชนบท กระทรวงแหล่งน้ำ กระทรวงการจัดการภาวะฉุกเฉิน และสำนักงานอุตุนิยมวิทยาจีน ต่างเป็นกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของคลื่นความร้อนที่มีต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร
บทความในซินหัวระบุว่า "ทางการจีนได้กระตุ้นให้มีการใช้แนวทางลดผลกระทบจากภัยแล้งเพื่อรักษาปริมาณพืชผลให้ได้ตามต้องการในปีนี้"
โกพาล เรดดี ผู้ก่อตั้งองค์กรวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม Ready for Climate กล่าวว่า ท่ามกลางปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำ พรรคคอมมิวนิสต์จีนจำเป็นต้องตัดสินใจว่าจะเน้นจัดสรรน้ำที่มีอยู่สำหรับภาคการเกษตรหรือภาคการผลิตพลังงานมากกว่า
เรดดี กล่าวกับวีโอเอว่า "เป็นเรื่องยากที่จะตัดการใช้น้ำในภาคการเกษตร เนื่องจากการพึ่งพาตนเองด้านอาหารถือเป็นส่วนสำคัญในนโยบายของจีน ดังนั้นปัญหาขาดแคลนน้ำจึงกลายไปเป็นปัญหาการขาดแคลนพลังงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้"
ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้อธิบายว่า "สำหรับประชาชนจีนทั่วไปอาจเจอปัญหาไฟดับหรือไฟตกเป็นครั้งคราว แต่ผลกระทบที่แท้จริงคือภาคการผลิตตามโรงงานต่าง ๆ ที่อาจต้องปิดตัวลงเพราะขาดแคลนไฟฟ้า" และว่า "ปัญหาน้ำถือเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น"
หวนกลับหาถ่านหิน
ที่ผ่านมา มณฑลเสฉวนพึ่งพาการผลิตพลังงานจากน้ำเป็นหลัก เนื่องจากตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำแยงซีที่มีความยาว 6,300 กม. ยาวที่สุดในประเทศจีน แต่ปริมาณการผลิตไฟฟ้าพลังงานของเสฉวนลดลง 50% ในเดือนนี้เนื่องจากระดับน้ำที่ลดลง
ด้วยเหตุนี้ มณฑลเสฉวนและประเทศจีนได้หันไปหาพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินแทน โดยตัวเลขการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วประเทศจีนเพิ่มขึ้น 15% ในช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อยู่ที่ระดับ 8.16 ล้านตัน อ้างอิงจากรายงานของสื่อ Global Times
ฟิลิป แอนดรูว์ส-สปีด นักวิชาการแห่งสถาบันพลังงานศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) กล่าวกับวีโอเอว่า ปัญหาความมั่นคงด้านพลังงาน ถือเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่สุดที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งเผชิญ
"หากไฟฟ้าดับ อุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็ไม่สามารถทำงานได้ ราคาสินค้าก็สูงขึ้น ดังนั้นความมั่นคงด้านพลังงานจึงถือเป็นภารกิจสำคัญอันดับต้น ๆ ของรัฐบาลทุกประเทศ" นักวิชาการผู้นี้ระบุ
ขณะที่ เอดเวิร์ด คันนิงแฮม ผู้อำนวยการโครงการพลังงานและความยั่งยืนแห่งเอเชีย ของมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ชี้ว่า ประเด็นนี้จะเป็นประเด็นสำคัญของการประชุมสภาแห่งชาติครั้งที่ 20 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในอีกไม่กี่สัปดาห์จากนี้
คันนิงแฮม กล่าวกับวีโอเอว่า "การประชุมสภาแห่งชาติครั้งนี้จะเต็มไปด้วยความตึงเครียดอย่างไม่เคยมีมาก่อน... ขณะที่รัฐบาลส่วนท้องถิ่นต่างมุ่งสยบความปั่นป่วนในสังคม แต่ภาพโรงงานที่ต้องปิดตัวลง และทุ่งนาที่แห้งแล้ง ต่างยิ่งตอกย้ำถึงความตึงเครียดและความเดือดร้อนที่กำลังเกิดขึ้นนี้"
- ที่มา: วีโอเอ