ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ นำมาตรการลงโทษอิหร่านกลับมาใช้ใหม่ โดยจะมีผลเที่ยงคืนวันจันทร์ และตำหนิอิหร่านว่ามี "ระบบเผด็จการที่โหดเหี้ยม ซึ่งแผ่ขยายความรุนแรง ความวุ่นวายและการนองเลือด"
การดำเนินการครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เมื่อสามเดือนก่อนสหรัฐฯถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์เมื่อสามปีก่อนในช่วงอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา
มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจนี้มุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมยานยนต์ การค้าทองและโลหะมีค่า และธุรกรรมการเงิน ทั้งยังสร้างความกังวลต่อเสถียรภาพของค่าเงินเรียล ของอิหร่าน
ประธานาธิบดีทรัมป์ ยำ้ว่าความตกลงฉบับก่อนหน้านี้เรื่องการลดทอนศักยภาพทางนิวเคลียร์ของอิหร่าน เป็นความตกลงที่ใช้ไม่ได้ และล้มเหลวในการสะกัดกั้นไม่ให้อิหร่านประสพความสำเร็จในโครงการนิวเคลียร์
ผู้นำสหรัฐฯกล่าวว่าการผ่อนปรนมาตรการลงโทษต่ออิหร่านสมัยประธานาธิบดีโอบามา เปิดโอกาสให้อิหร่านรับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาล
ขณะเดียวกันรัฐบาลเตหะรานนำเงินไปสนับสนุนการพัฒนาขีปนาวุธ ช่วยขบวนการก่อการร้ายและเติมเชื้อไฟให้กับความขัดแย้งในตะวันออกกลางและดินเเดนอื่นๆ โดนัลด์ ทรัมป์กล่าว
อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผู้ร่วมตกลงกับอิหร่านเมื่อสามปีก่อน กล่าวว่า จะยังคงยึดถือเงื่อนไขเดิมและมีความตั้งใจที่จะช่วยลดผลกระทบจากการที่โดนัลด์ ทรัมป์นำมาตรการลงโทษกลับมาใช้ใหม่กับอิหร่าน
นอกจากนั้น รัสเซียและจีน ผู้ร่วมลงนามอีกสองประเทศ จะยังคงสนับสนุนความตกลงนิวเคลียร์เดิมกับรัฐบาลเตหะราน
หน่วยงานสากล International Atomic Energy Agency ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบ เขียนในรายงาน 11 ฉบับติดต่อกันว่าอิหร่านทำตามความตกลงนิวเคลียร์กับประเทศมหาอำนาจ
ทั้งนี้ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า เขาพร้อมที่จะพบกับประธานาธิบดี ฮัสซาน รูฮานีของอิหร่านโดยไม่ตั้งเงื่อนไขใดๆ
แต่ที่ผ่านมาผู้นำทั้งสองมักข่มขู่กันและกัน
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ประธานาธิบดีรูฮานี ปฏิเสธข้อเสนอจากประธานาธิบดีทรัมป์เรื่องการเจรจา หากว่าอเมริกากลับมาใช้มาตรการลงโทษกับอิหร่าน
เขากล่าวว่า "ถ้าคุณใช้มีดแทงผู้อื่นข้างหลัง และมาบอกว่าต้องการเจรจา สิ่งที่ควรทำอย่างแรกคือการถอนมีดเล่นนั้นเสียก่อน"