กลางเดือนมกราคมนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะมีโอกาสตัดสินใจอีกครั้งว่าจะรับรองอิหร่านว่าทำตามข้อตกลงเรื่องการลดทอนเทคโนโลยีนิวเคลียร์กับหกประเทศมหาอำนาจหรือไม่
โอกาสดังกล่าวจะเปิดทางให้สหรัฐฯ ใช้มาตรการลงโทษรัฐบาลกรุงเตหะราน ในจังหวะที่ตรงกับเหตุการณ์การประท้วงต่อต้านผู้นำโดยประชาชนชาวอิหร่าน
สำนักข่าวต่างประเทศระบุว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 12 คนในการประท้วงรัฐบาลอิหร่านที่เริ่มขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยผู้ต่อต้านไม่พอใจรัฐบาลเตหะรานที่ไม่สามารถจัดการกับปัญหาราคาสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น และการประท้วงลุกลามกลายเป็นการกดดันผู้นำแนวทางอนุรักษ์นิยมครั้งใหญ่
บรรยากาศการเมืองของอิหร่านในปัจจุบันแตกต่างจากเมื่อเดือนตุลาคม ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจไม่รับรองอิหร่านเรื่องการปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ดังกล่าวมีชื่อว่า Joint Comprehensive Plan of Action (JCPOA) อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจของประธานาธิบดีทรัมป์ในครั้งนั้น ไม่ได้นำไปสู่การใช้มาตรการลงโทษอิหร่านโดยรัฐสภาอเมริกัน
ในวันที่ 12 มกราคม ผู้นำสหรัฐฯ จะต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจะเดินตามแนวทางเดิมหรือไม่ นอกจากนั้นเขาจะต้องตัดสินใจด้วยว่า อิหร่านจะได้รับการยกเว้นการถูกลงโทษชุดเดิมก่อนหน้านี้ต่อไป หรือการผ่อนปรนนี้ควรยุติลง
หากว่าอิหร่านถูกใช้มาตรการลงโทษ นักวิเคราะห์กล่าวว่าความตกลงภายใต้ JCPOA คงพังทลายลง
ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ ตำหนิการความตกลง JCPOA ซึ่งเกิดขึ้นสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ว่า “เป็นเรื่องน่าอับอาย” ของสหรัฐฯ แม้ว่าที่ปรึกษาระดับสูงของทรัมป์หลายคนเตือนว่า อเมริกาไม่ควรล้มเลิกความตกลงฉบับนี้
ผู้สันทัดกรณี Negar Mortazavi กล่าวว่า หากพิจารณาถึงประเด็นทางเศรษฐกิจในปัจจุบันของอิหร่าน มาตรการลงโทษใดๆ ที่สหรัฐฯ ผลักดัน จะเพิ่มพูนแรงกดดันต่อรัฐบาลกรุงเตหะราน
นอกจากนั้น James Carafano แห่งหน่วยงานวิจัยด้านนโยบาย Heritage Institute กล่าวว่า การประท้วงในอิหร่านอาจเปิดประเด็นหารือในกลุ่มประเทศมหาอำนาจว่าควรกดดันอิหร่านเพิ่มเติมอย่างไรต่อไป โดยเขาประเมินว่า ทำเนียบขาวอาจออกคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อเพิ่มมาตรการลงโทษต่ออิหร่าน
ภายหลังจากการประท้วงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวผ่านทวิตเตอร์ว่า “ตอนนี้กำลังจับตามองอย่างใกล้ชิดเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน” และบอกด้วยว่า “เวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงมาถึงแล้ว” สำหรับอิหร่าน
ที่ผ่านมาตั้งแต่การปฏิวัติในอิหร่านนำมาซึ่งระบบการปกครองที่ให้อิทธิพลต่อผู้นำศาสนาในปี ค.ศ. 1979 สหรัฐฯ ตัดความสัมพันธ์กับรัฐบาลอิหร่าน
แม้ว่ามาตรการลงโทษต่ออิหร่านโดยสหรัฐฯ จะส่งผลทางเศรษฐกิจ แต่ยังคงไม่สามารถยับยั้งการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของอิหร่าน จนกระทั่ง เมื่อปี ค.ศ. 2013 ที่รัฐบาลประธานาธิบดีโอบามาร่วมทำความตกลง JCPOA กับรัฐบาลเตหะราน
ภายใต้ความตกลงนี้ อิหร่านยอมลดทอนโครงการนิวเคลียร์เพื่อแลกเปลี่ยนกับการผ่อนปรนมาตรการลงโทษจากประเทศมหาอำนาจ
(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ William Gallo)