ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวเตือนอิหร่านในวันพุธว่า หากอิหร่านเริ่มพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ หลังการถอนตัวของสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ที่ทำไว้กับอิหร่าน รัฐบาลกรุงเตหะรานจะต้องเผชิญกับผลร้ายแรงที่จะตามมา
ปธน.ทรัมป์ กล่าวที่ทำเนียบขาวว่า สหรัฐฯ จะใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจชุดใหม่ต่ออิหร่านเร็วๆ นี้ เพื่อกดดันให้อิหร่านยอมเข้าสู่การเจรจารอบใหม่ ซึ่งรวมถึงยกเลิกการทดสอบขีปนาวุธ และแทรกแซงทางทหารในซีเรีย เยเมน และประเทศอื่นในตะวันออกกลาง
WATCH: Trump on sanctions
ปธน.สหรัฐฯ กล่าวว่า หากไม่มีข้อตกลงที่ดีเกิดขึ้นกับอิหร่าน สหรัฐฯ ก็จะไม่ทำข้อตกลงใดๆ ในเรื่องนี้ และยังเน้นย้ำอีกครั้งว่า ข้อตกลงที่รัฐบาลสหรัฐฯ สมัยประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า ทำไว้กับอิหร่านนั้น เป็นข้อตกลงที่แย่ที่สุดที่ไม่ควรเกิดขึ้น
การตอบสนองของยุโรป
ก่อนหน้านี้ บรรดาประเทศที่ร่วมทำข้อตกลงฉบับนี้ร่วมกับสหรัฐฯ และอิหร่าน ได้แก่ เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และจีน ต่างออกมาสนับสนุนให้อหร่านปฏิบัติตามข้อตกลงฉบับเดิม แม้สหรัฐฯ ได้ตัดสินใจถอนตัว
นายกรัฐมนตรีเยอรมนี นางอังเกล่า เมอร์เคิล เรียกการถอนตัวของสหรัฐฯ ครั้งนี้ว่าเป็น "เรื่องเศร้าสลด" และเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ยุโรปต้องร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นทั้งในด้านการเมืองและนโยบายต่างประเทศ พร้อมยืนยันว่าเยอรมนีจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้อิหร่านอยู่ร่วมในข้อตกลงต่อไป
ด้านประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน มีคำแถลงแสดงความกังวลต่อการตัดสินใจของ ปธน.ทรัมป์ พร้อมยืนยันถึงความสำคัญของข้อตกลงฉบับนี้
เสียงตอบรับในตะวันออกกลาง
นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู ซึ่งต่อต้านข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างประเทศผู้นำโลก 6 ประเทศ กับอิหร่าน มาโดยตลอด ได้ออกมาแสดงความยินดีที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงนี้ เช่นเดียวกับผู้นำของประเทศในโลกอาหรับอื่นๆ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย สหอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน
แต่ในอิหร่าน ประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงการตัดสินใจของประธานาธิบดีทรัมป์ ด้วยการเดินขบวนและจุดไฟเผาธงชาติอเมริกัน บริเวณหน้าอาคารที่เคยเป็นสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเตหะราน
ขณะที่ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อยาโตลาห์ อาลี คาเมนี กล่าวว่า ปธน.ทรัมป์ กล่าวคำโกหกมากกว่า 10 ครั้ง ในคำประกาศเมื่อวานนี้เรื่องที่สหรัฐฯ จะถอนตัวออกจากข้อตกลงด้านนิวเคลียร์กับอิหร่าน
ท่าทีของเอเชีย
รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่น ทาโร่ โคโน่ กล่าวในวันพุธว่า ญี่ปุ่นสนับสนุนข้อตกลงกับอิหร่าน ซึ่งเชื่อว่าเป็นก้าวสำคัญในการยับยั้งการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลก และสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง
ขณะเดียวกัน ทั้งผู้นำญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ต่างเน้นย้ำให้มีการใช้วิธีทางการทูตในการแก้ปัญหาเรื่องนิวเคลียร์ของอิหร่าน รวมทั้งเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือด้วย