การที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ สั่งปลดนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน (Rex Tillerson) จากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ นั้น ไม่ได้เป็นเรื่องเกินความคาดหมายของผู้ติดตามการเมืองในสหรัฐฯ
แต่วิธีการและจังหวะเวลาที่ใช้ในการปลดรัฐมนตรีต่างประเทศผู้นี้ ทำให้หลายคนรู้สึกตกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่นาย Rex Tillerson ได้ทราบข่าวเกี่ยวกับการปลดตนออกจากตำแหน่ง จากการทวีตของประธานาธิบดีทรัมป์ และหลังจากที่ตนกล่าวว่า รัฐบาลรัสเซียเป็นผู้ใช้สารพิษกับอดีตสายลับคนหนึ่งในอังกฤษ เพียงไม่กี่ชั่วโมง
ประธานาธิบดีทรัมป์ เลือกนายไมค์ พอมเพโอ (Mike Pompeo) ผู้อำนวยการองค์การ CIA ซึ่งเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ สังกัดพรรครีพับลิกันมาก่อน ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่
นายทอม คันทรีแมน (Tom Countryman) อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการความมั่นคงระหว่างประเทศและการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ได้ชี้ว่า ในฐานะที่เคยเป็นผู้อำนวยการ CIA นั้นนาย Mike Pompeo คงจะทราบดีเกี่ยวกับบทบาทและการก้าวก่ายแทรกแซงของรัสเซียในเรื่องการเมืองของสหรัฐฯ
และอดีตนักการทูตสหรัฐฯ ผู้นี้ ก็หวังว่า รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คนใหม่ จะสามารถทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ยอมรับและดำเนินการบางอย่าง เพื่อปกป้องระบบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ ไม่ให้ตกเป็นเป้าของปฏิบัติการบ่อนทำลายอย่างลับๆ จากรัสเซียได้
ส่วนนักวิเคราะห์อีกคนหนึ่ง คือนายแอเรียล โคเอน (Ariel Cohen) จากสภา Atlantic Council ให้ความเห็นว่า นาย Mike Pompeo เจ้ากระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ คนใหม่นี้ คงจะทำงานอย่างใกล้ชิดมากขึ้นกับกระทรวงกลาโหม และชุมชนข่าวกรองของสหรัฐฯ
รวมทั้งคงจะทำงานเข้าขากับประธานาธิบดีทรัมป์ได้มากขึ้นเพราะเคยผ่านโรงเรียนนายร้อย เวสต์ พอยต์ (West Point) มาแล้ว และประธานาธิบดีทรัมป์นั้นก็ดูจะทำงานได้ดีกับทหารด้วย
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนตัวเจ้ากระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ นี้ มีขึ้นหลังจากที่ผู้นำสหรัฐฯ รับปากว่าจะพบหารือเพื่อประชุมสุดยอดกับผู้นำเกาหลีเหนือในเดือนพฤษภาคม ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้เคยประกาศว่าตนจะยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ทำไว้กับอิหร่านด้วย
และเกี่ยวกับเรื่องนี้ นาย Tom Countryman อดีตนักการทูตระดับสูงของสหรัฐฯ ชี้ว่า ทั้งสองเรื่องนี้ไม่น่าจะไปด้วยกันได้
โดยเขาให้ความเห็นว่า เป็นไปไม่ได้ที่การยกเลิกข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ ซึ่งสหรัฐฯ ได้ทำไว้กับอิหร่านนั้น จะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองของประธานาธิบดีทรัมป์กับเกาหลีเหนือ เพราะเรื่องนี้จะยิ่งทำให้นายคิม จอง อึน ตั้งคำถามว่า ควรจะไว้ใจและลงนามในข้อตกลงใดๆ กับประธานาธิบดีทรัมป์หรือไม่ เพราะผู้นำสหรัฐฯ ดูเหมือนพร้อมที่จะยกเลิกข้อตกลงใดๆ ที่ได้เคยทำไว้ตลอดเวลา
ส่วนนักวิเคราะห์คนอื่นก็มองว่า คงไม่คุ้มสำหรับสหรัฐฯ ที่จะหารือระดับสุดยอดกับเกาหลีเหนือ หากไม่มีความหวังว่าจะสามารถบรรลุผลลัพธ์หรือข้อตกลงที่มีความหมายใดๆ