ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์: การประชุมสุดยอด "ทรัมป์ - คิม" จะมีโอกาสเกิดข้อตกลงใดๆ หรือไม่?


A South Korean soldier walks past a television screen showing pictures of US President Donald Trump (L) and North Korean leader Kim Jong Un at a railway station in Seoul on March 9, 2018.
A South Korean soldier walks past a television screen showing pictures of US President Donald Trump (L) and North Korean leader Kim Jong Un at a railway station in Seoul on March 9, 2018.

แผนการประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กับ ผู้นำ คิม จอง อึน แม้จะยังไม่มีการยืนยัน แต่ก็ทำให้ผู้คนเกิดความคาดหวังว่าทั้งสองประเทศจะสามารถทางแนวทางจัดการความขัดแย้งและวิกฤตการณ์นิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีได้อย่างสันติวิธี

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนการจะบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าวยังมีความสลับซับซ้อนและต้องอาศัยความร่วมมือย่างมากจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า หากการประชุมสุดยอดระหว่างตนกับผู้นำ คิม จอง อึน ของเกาหลีเหนือ เกิดขึ้นจริง ก็อาจจะมีข้อตกลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก หรือไม่เช่นนั้นก็อาจจะจบลงโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ

นักวิเคราะห์คาดว่า ในระยะสั้น ผู้นำคิมอาจมีข้อเสนอยุติการพัฒนาขีปนาวุธนำวิถีแบบข้ามทวีป หรือ ICBM และระงับการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ชั่วคราว รวมถึงยังอาจจะยอมลดการสั่งสมวัตถุดิบที่เกี่ยวกับนิวเคลียร์ลงด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะยอมแลกเปลี่ยนกับเกาหลีเหนือนั้นคืออะไร นอกเหนือไปจากความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ที่น่าจะเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องให้กับเกาหลีเหนือเพื่อแลกเปลี่ยนอยู่แล้ว

คุณ โก เมียง-เฮียน นักวิเคราะห์ด้านเกาหลีเหนือ จากสถาบันศึกษาด้านนโยบาย Asan ในกรุงโซล เชื่อว่า หากต้องการให้เกาหลีเหนือยุติโครงการทดสอบขีปนาวุธและนิวเคลียร์อย่างถาวร ปธน.ทรัมป์ ต้องยอมยกเลิกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อเกาหลีเหนือ

ก่อนหน้านี้ ทั้งเปียงยางและกรุงวอชิงตันต่างมีข้อเสนอเพื่อทำให้การเจรจาครั้งนี้เกิดขึ้นได้จริง โดยเกาหลีเหนือตกลงระงับการทดสอบขีปนาวุธและนิวเคลียร์ชั่วคราว หลังจากทดสอบครั้งสุดท้ายไปเมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว ขณะที่สหรัฐฯ ก็ยินยอมลดเงื่อนไขที่ว่าจะยอมเจรจากับเกาหลีเหนือก็ต่อเมื่อเกาหลีเหนือมีมาตรการที่ชัดเจนที่จะนำไปสู่การยุติการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างถาวรเท่านั้น

แต่ทางรัฐบาลสหรัฐฯ ยืนยันว่าจะยังไม่มีการลดแรงกดดันต่อเกาหลีเหนือ จนกว่าจะมีข้อตกลงใดๆ เกิดขึ้น โดยมาตรการลงโทษต่างๆ ก็จะยังคงมีอยู่เช่นเดิม

สื่อมวลชนเกาหลีใต้รายงานว่า การประชุมสุดยอดระหว่าง ปธน.ทรัมป์ กับ ผู้นำคิม จอง อึน อาจจะมีขึ้นในเดือน พ.ค. ซึ่งก่อนหน้านั้น ในเดือน เม.ย. ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ มูน แจ-อิน จะพบกับผู้นำเกาหลีเหนือเป็นครั้งแรกด้วย

คาดว่าการประชุมระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ นี้ มีประเด็นสำคัญที่เรื่องของการเปิดช่องทางสื่อสารระหว่างกองทัพ การอนุญาตให้ญาติพี่น้องที่อาศัยอยู่ในสองประเทศได้กลับมาเจอกันอีกครั้ง และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และอาจรวมถึงความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ เช่น การเปิดสวนอุตสาหกรรมแคซอง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศอีกครั้ง หลังจากถูกปิดไปเมื่อปี ค.ศ. 2016

ประเมินว่า ปัจจุบัน เกาหลีเหนือมีหัวรบนิวเคลียร์ในครอบครองประมาณ 13 – 30 ลูก และขีปนาวุธพิสัยกลางและพิสัยไกลอีกหลายร้อยลูก นอกจากนี้ยังสามารถผลิตหัวรบนิวเคลียร์เพิ่มอีก 2 – 3 ลูก ทุกๆ หนึ่งปี

แต่ผู้นำเกาหลีเหนือได้แสดงท่าทีออกมาก่อนหน้านี้ว่า เกาหลีเหนืออาจไม่จำเป็นต้องมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองอีกต่อไป หากไม่มีภัยคุกคามจากสหรัฐฯ และเกาหลีใต้

คุณ เจียง เซียง-ชาง นักวิเคราะห์จากสถาบัน Sejong ในเกาหลีใต้ ชี้ว่า ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อเกาหลีเหนือพูดว่า พร้อมที่จะยุติโครงการขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด นั่นหมายความว่าเปียงยางต้องการให้สหรัฐฯ หยุดการซ้อมรบกับเกาหลีใต้เป็นการถาวรเช่นกัน รวมถึงต้องการให้ยกเลิกมาตรการลงโทษทั้งหมดที่ใช้กับเกาหลีเหนือ และยอมให้มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือด้วย

แต่ในขณะที่สหรัฐฯ ยืนยันหนักแน่นมาตลอดว่าการซ้อมรบกับเกาหลีใต้จะยังดำเนินต่อไป จึงยิ่งทำให้โอกาสที่จะเกิดข้อตกลงใดๆ ในการเจรจาสุดยอดระหว่าง ปธน.ทรัมป์ กับผู้นำ คิม จอง อึน ดูจะเป็นเรื่องสลับซับซ้อนอย่างยิ่ง ไม่ว่าการเจรจาครั้งนี้จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ก็ตาม

(ผู้สื่อข่าว Brian Padden รายงานจากกรุงโซล / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)

XS
SM
MD
LG