ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แต่งตั้งผู้อำนวยการหน่วยงานข่าวกรองกลาง (CIA) คนใหม่ 'จีนา ฮาสเพล' (Gina Haspel) ผู้ที่สื่อรายงานว่าเคยบริหารคุกลับของซีไอเอในประเทศไทย
การแต่งตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ปลดนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ และให้ นายไมค์ พอมเพโอ ผอ.หน่วยงานข่าวกรองกลาง หรือซีไอเอมาทำงานแทนนายทิลเลอร์สัน
หาก จีนา ฮาสเพล ได้รับการรับรองจากวุฒิสภาสหรัฐฯ หลังกระบวนการกลั่นกรองในเดือนเมษายน เธอจะเป็นสตรีคนแรกที่รับหน้าที่ ผอ.ซีไอเอ
นายพอมเพโอ ชื่นชม จีนา ฮาสเพล ว่าทำงานได้อย่างดีเยี่ยมในฐานะรองผู้อำนวยการซีไอเอ ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเธอมาเป็นเวลา 30 ปี
นอกจากนั้น ผอ. คนปัจจุบัน กล่าวว่าเธอมีความสามารถที่โดดเด่นในการผลักดันงานต่างๆ ให้ลุล่วงไป และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรอบข้าง
จีนา ฮาสเพล เคยทำงานในโครงการลับของซีไอเอ และเป็นเจ้าหน้าที่บริหารที่สำนักงานกรุงลอนดอน นอกจากนั้นยังรับผิดชอบงานข่าวกรองช่วงการสิ้นสุดสงครามเย็น และการปราบปรามการก่อการร้ายหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน ค.ศ. 2001
อย่างไรก็ตาม เธอถูกวิจารณ์เรื่องการบริหารคุกลับในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งใน "black sites" ของซีไอเอ ที่ใช้เป็นสถานที่บีบเค้นข้อมูลจากผู้ต้องสงสัย
วุฒิสมาชิกจอห์น แม็คเคน ประธานคณะกรรมธิการกิจการทหารของวุฒิสภา กล่าวว่า ในช่วงการกลั่นกรอง จีนา ฮาสเพล จะต้องตอบคำถามเกี่ยวกับบทบาทของเธอเรื่องการใช้เทคนิคที่อาจเป็นการทรมาน เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลลับ
สว. แม็คเคน กล่าวว่า กฎหมายอเมริกันในปัจจุบันห้ามการทรมานผู้ต้องสงสัย และผู้ที่ได้รับการรับรองให้เป็น ผอ.ซีไอเอ จะต้องให้คำมั่นที่จะปฏิบัติตามกฎหมายนี้
ทั้งนี้เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2014 วุฒิสภาสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานเรื่องคุกลับของซีไอเอ และการใช้เทคนิครุนแรงสอบปากคำผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้าย
ในขณะเดียวกัน บทความของหนังสือพิมพ์ Washington Post ในเรื่องเดียวกันนี้ ระบุว่า คุกลับของซีไอเอในต่างประเทศ ในช่วงนั้นมีอยู่ 8 แห่งใน 5 ประเทศด้วยกัน
ประเทศต่างๆ ที่ให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในเรื่องนี้ มีโปแลนด์ ลิธัวเนีย โรเมเนีย แอฟกานิสถาน และประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการชี้เฉพาะลงไปว่า คุกลับในประเทศเหล่านี้อยู่ที่ไหนบ้าง
ส่วนของรายงานหนา 528 หน้าฉบับนี้ ที่เกี่ยวกับประเทศไทย กล่าวถึงผู้ต้องสงสัยก่อเหตุวางระเบิดไนท์คลับที่เกาะบาหลีในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2002
การจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยรายนี้ เกิดขึ้นในประเทศไทยในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 2003 รายงานกล่าวว่าเป็นเรื่องบังเอิญ เพราะเจ้าหน้าที่ซีไอเอร่วมกับเจ้าหน้าที่ไทยที่กำลังติดตามสะกดรอยบุคคลอีกผู้หนึ่ง
และในการสอบปากคำ บุคคลผู้นั้นยอมรับว่าสถานที่หนึ่งเป็นที่อยู่ของผู้ต้องสงสัย จนนำไปสู่การจับกุมตัว