ราชบัณฑิตสภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (The Royal Swedish Academy of Sciences) ประกาศรายชื่อผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปีนี้ในวันจันทร์ ได้แก่ นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันสามคนจากผลงาน "การวิจัยว่าด้วยวิกฤตการเงินและการธนาคาร"
เบน เบอร์นังเค อดีตประธานระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Federal Reserve (Fed) ซึ่งปัจจุบันทำงานให้กับสถาบันบรูกกิงส์ ในกรุงวอชิงตัน คว้ารางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันอีกสองคน คือ ดักกลาส ไดมอนด์ จาก University of Chicago และ ฟิลิป ดิบวิก จาก Washington University in St. Louis
คณะกรรรมการตัดสินรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า เจ้าของรางวัลโนเบลสาขานี้ในปีนี้ได้พัฒนาความรู้ความเข้าใจในบทบาทของธนาคารที่มีต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงิน ซึ่งการค้นพบนี้ถือเป็นส่วนสำคัญในการหลีกเลี่ยงการล้มครืนของภาคการเงินในเวลาต่อมา
เบอร์นังเค ไดมอนด์ และดิบวิก วิเคราะห์ข้อมูลตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 ซึ่งการค้นพบของพวกเขาได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมกลไกตลาดและรับมือวิกฤตการเงินต่าง ๆ
แถลงการณ์ของคณะกรรมการฯ ระบุว่า เบน เบอร์นังเค คือผู้วิเคราะห์ข้อมูลจากยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุดในช่วงทศวรรษ 1930 และพบว่า การทำงานของธนาคารในช่วงนั้นคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้วิกฤตดังกล่าวลงลึกและยาวนาน
ขณะที่ไดมอนด์และดิบวิก ร่วมกันคิดค้นทฤษฎีที่นำมาใช้ในระบบธนาคารสมัยใหม่ คือการที่ธนาคารดำรงสถานะตัวกลางในการรับเงินฝากจากลูกค้าโดยที่ผู้ฝากยังสามารถเข้าถึงเงินของพวกเขาได้ตราบที่ต้องการ และธนาคารสามารถนำเงินนั้นไปปล่อยกู้ได้ในระยะยาว นอกจากนี้ ธนาคารยังกลายเป็นสถาบันที่สำคัญทางสังคมจากการประเมินความน่าเชื่อถือทางการเงินของผู้กู้และรับรองว่าเงินกู้นั้นจะถูกนำไปใช้ในการการลงทุนที่เหมาะสม
ผู้ชนะทั้งสามคนจะแบ่งเงินรางวัลมูลค่า 900,000 ดอลลาร์ในสัดส่วนเท่ากัน
ทั้งนี้ รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาที่ไม่ได้รวมอยู่ในรายชื่อรางวัลสาขาต่าง ๆ ที่ อัลเฟรด โนเบล ระบุไว้ในตอนแรก แต่มาเพิ่มในปีค.ศ.1968 โดยธนาคารกลางสวีเดน เพื่อเป็นเกียรติให้แก่อัลเฟรด โนเบล และผู้ที่ทำงานในด้านเศรษฐศาสตร์
- ที่มา: วีโอเอ