ฤดูการประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาต่าง ๆ ประจำปีนี้มาถึงแล้ว โดยรางวัลแรกที่เริ่มประกาศในวันจันทร์ คือรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ซึ่งมอบให้แก่นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดน ดร.สแวนเต แพโบ (Svante Paabo) เจ้าของผลงานการถอดรหัสพันธุกรรมของมนุษย์โบราณ นีแอนเดอธัล ซึ่งมีชีวิตอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์และสูญพันธุ์ไปแล้ว
คณะกรรมการรางวัลโนเบลมีแถลงการณ์ในวันจันทร์ว่า ดร.สแวนเต แพโบ ได้รับการยกย่องจากการเป็นผู้บุกเบิกแนวทางใหม่ในการศึกษาประวัติวิวัฒนาการของมนุษย์
แถลงการณ์ระบุว่า "นักวิทยาศาสตร์วัย 67 ปีผู้นี้สามารถเอาชนะความท้าทายต่าง ๆ ในกระบวนการวิเคราะห์ตัวอย่างดีเอ็นเอของมนุษย์โบราณ เพื่อจัดทำเป็นรหัสพันธุกรรมได้เป็นผลสำเร็จ นำไปสู่การค้นพบมนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วอีกสายพันธุ์หนึ่ง คือ เดนิโซแวน จากข้อมูลดีเอ็นเอที่ได้มาจากกระดูกนิ้วชิ้นเล็ก ๆ "
ผลงานของแพโบช่วยในการพิสูจน์ว่า มนุษย์โบราณสายพันธุ์โฮโมเซเปียน นีแอนเดอธัล และเดนิโซแวน มีการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์ในช่วงเวลาหนึ่ง เป็นผลให้มีการรวมดีเอ็นเอซึ่งปรากฎอยู่ในมนุษย์ในปัจจุบัน
ดร.แพโบ ทำงานให้กับ Max Planck Institute for Evolutionary Anthropology ในเมืองไลป์ซิก เยอรมนี และที่ Okinawa Institute of Science and Technology ที่โอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น
รางวัลโนเบลสาขาการแพทย์คือ สาขาแรกที่มีการประกาศในสัปดาห์นี้ โดยจะมีการประกาศสาขาต่าง ๆ ต่อเนื่องไปจนถึงสาขาสันติภาพในวันศุกร์ และสาขาเศรษฐศาสตร์ในวันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม ส่วนงานมอบรางวัลอย่างเป็นทางการจะจัดขึ้นที่กรุงสตอกโฮล์มในเดือนธันวาคม
- ที่มา: วีโอเอ