นักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Alabama วิทยาเขต Birmingham อยากจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่กล่าวกันว่า การใช้สมองทำงานหนัก ทำให้หิวและรับประทานอาหารมากนั้น เป็นจริงหรือไม่
เรื่องนี้เป็นปัญหา เพราะสมองเก็บเชื้อเพลิงสำหรับพลังงานได้จำกัด เมื่อมีการใช้พลังงานในการใช้ความคิด สมองจะต้องการแคลอรี่เพิ่ม จึงทำให้เกิดความหิว แม้จะไม่ได้ออกแรงแต่อย่างใด ทำให้มองกันว่ากระบวนการดังกล่าวทำให้นักศึกษาตามมหาวิทยาลัยใช้สมองในการเรียนมาก ก็ต้องรับประทานมาก จึงทำให้อ้วนไปตามๆกัน
อาจารย์ Gary Hunter นักสรีรวิทยาในการออกกำลังกาย เป็นหัวหน้าทีมนักวิจัยที่พยายามหาคำตอบให้กับคำถามที่ว่า การออกกำลังกายจะช่วยลดความหิวหลังการใช้งานสมองได้หรือไม่
การวิจัยอาศัยข้อเท็จจริงที่ว่า การออกกำลังกายทำให้มีปริมาณน้ำตาลและกรดแล็กติก (Lactate) ในเลือดเพิ่มขึ้น รวมทั้งเพิ่มปริมาณเลือดที่หล่อเลี้ยงสมองด้วย
และเพราะว่าน้ำตาลและเลือดคือเชื้อเพลิงของพลังงานในสมอง ทีมนักวิจัยชุดนี้จึงสงสัยว่า ถ้าเพิ่มการหมุนเวียนของเลือดด้วยการออกกำลังกายหลังการใช้งานสมอง ซึ่งเป็นการเพิ่มเชื้อเพลิงให้สมองที่เหนื่อยอ่อน จะช่วยลดความหิวได้หรือไม่
การทดลอง ซึ่งมีนักศึกษาเป็นอาสาสมัคร 38 คน และแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มควบคุม กลุ่มที่ไม่ออกกำลังกาย และกลุ่มที่ออกกำลังกายหลังการทำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย
นักวิจัยพบว่า กลุ่มที่ออกกำลังกายหลังการทำข้อสอบ รับประทานแคลอรี่น้อยลง 25 แคลอรี่ กลุ่มที่ไม่ออกกำลังกายรับประทานมากขึ้น 100 แคลอรี่
แต่เมื่อบวกแคลอรี่ที่กลุ่มออกกำลังกายเผาผลาญออกไปในระหว่างการออกกำลัง นักวิจัยลงความเห็นว่ากลุ่มนี้รับประทานแคลอรี่ลดลง 200 แคลอรี่
อาจารย์ Gary Hunter ยอมรับว่า การทดลองครั้งนี้มีข้อจำกัด เพราะพิจารณาแต่อาหารกลางวัน และไม่ทราบว่าแต่ละกลุ่มรับประทานอาหารมื้อกันเย็นมากน้อยแค่ไหน และไม่ทราบด้วยว่า การออกกำลังกายแต่ละประเภทนั้นให้ผลแตกต่างกันอย่างไร หรือไม่
แม้นักวิชาการผู้นี้จะเชื่อว่า การออกแรงให้เหงื่อออกได้น่าจะเพิ่มทั้งน้ำตาลและกรดแล็กติกในเลือดที่หล่อเลี้ยงสมอง และลดความหิวโหยได้
รายงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Medicine & Science in Sports and Exercise