ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สื่อต่างชาติรายงานคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญไทย พร้อมบทวิเคราะห์จากนักวิชาการ


Thailand Protests
Thailand Protests

สื่อต่างชาติรายงานข่าวคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไทยที่มีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยแกนนำการประท้วงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ว่าใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง และมีมติเอกฉันท์สั่งให้เลิกกระทำ

รายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศ เช่นบลูมเบิร์กและเอพี สะท้อนทัศนะว่าคำตัดสินอาจนำไปสู่การดำเนินคดีข้อหาอื่น ๆ ต่อผู้ประท้วง และอาจทำให้ผู้ประท้วงได้รับโทษหนักขึ้น

เมื่อวันพุธ ศาลรัฐธรรมนูญมุ่งประเด็นไปที่คำปราศรัยของของปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, อานนท์ นำภา และภานุพงศ์ จาดนอก ที่เรียกร้องให้มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ รวมถึงยกเลิกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2562 ปรับลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้สถาบันกษัตริย์ และยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่กำหนดบทลงโทษผู้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ อาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า คำตัดสินครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการต่อต้านอันแรงกล้าของผู้มีอำนาจฝ่ายนิยมสถาบันกษัตริย์ต่อฝ่ายแกนนำประท้วงที่เรียกร้องความโปร่งใสของสถาบันกษัตริย์มากขึ้น โดยคำตัดสินครั้งนี้อาจปูทางให้มีการดำเนินคดีข้อหาอื่น ๆ ต่อผู้ประท้วง ทำให้ได้รับโทษหนักกว่าเดิมได้

สำนักข่าวบลูมเบิร์กยังระบุด้วยว่า คำตัดสินนี้อาจขัดขวางไม่ให้มีการอภิปรายในสภาเกี่ยวกับการปฏิรูปประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขณะที่พรรคเพื่อไทยกำลังเรียกร้องให้มีการปรับกฎหมายดังกล่าวเช่นเดียวกับคณะก้าวหน้า ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า เป็นท่าทีจากพรรคการเมืองที่เป็นไปไม่ได้เลยในช่วงไม่กี่ปีก่อน

ทางด้านสำนักข่าวเอพี รายงานว่า ศาลอาจสื่อเป็นนัยผ่านคำตัดสินว่า อำนาจของสำนักพระราชวังได้รับความสำคัญเหนือสถาบันอื่นๆ โดยเอพีระบุว่า ตามธรรมเนียมประเพณีแล้ว บทบาทของกษัตริย์นับตั้งแต่มีการยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อปีพ.ศ. 2475 คือ ทรง “ครองราชย์แต่ไม่ปกครอง”

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเอพีระบุว่า นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ สำนักพระราชวังมีอำนาจมากขึ้นและลดทอนความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในไทย

Pro-democracy movement protest leaders from left, Parit Chiwarak, Panupong Jadnok, Panusaya Sithijirawattanakul and Shinawat Chankrajang address supporters after answering charges at a police station in Northaburi, Thailand, Dec. 8, 2020.
Pro-democracy movement protest leaders from left, Parit Chiwarak, Panupong Jadnok, Panusaya Sithijirawattanakul and Shinawat Chankrajang address supporters after answering charges at a police station in Northaburi, Thailand, Dec. 8, 2020.


สำนักข่าวเอพียังระบุด้วยว่า ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จากแกนนำประท้วง เป็นข้อเรียกร้องที่ “ดันเพดาน” และเป็นที่ถกเถียงมากที่สุด เนื่องจากสถาบันกษัตริย์ถูกตรวจสอบจากสาธารณะในไทยไม่บ่อยครั้ง และได้รับการเคารพสักการะอย่างสูงในฐานะเสาหลักของความเป็นไทย สถาบันกษัตริย์ยังได้รับการคุ้มครองอย่างสูงจากชนชั้นปกครองในไทย รวมถึงศาลและกองทัพไทย ตามรายงานของเอพี

สำนักข่าวดังกล่าวยังระบุด้วยว่า นักวิชาการด้านกฎหมายจำนวนหนึ่งเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญเปรียบดั่งกำแพงต้านความเปลี่ยนแปลงของผู้มีอำนาจฝ่ายอนุรักษ์นิยมในไทย โดยเฉพาะต่อประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และคำตัดสินล่าสุดนี้ก็เป็นการปกป้องสถาบันกษัตริย์ครั้งล่าสุด หลังสถาบันกษัตริย์เผชิญกับแรงกดดันจากความแตกแยกทางการเมืองในไทยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

ทางด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บทบาทของสถาบันกษัตริย์เป็นประเด็นต้องห้ามในไทย โดยหลักการแล้ว สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง และรัฐธรรมนูญระบุว่า องค์พระมหากษัตริย์ “ทรงดำรงอยู่ฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ”

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ร่างในยุคของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดทางให้ผู้ใดก็ตามสามารถยื่นคำร้องมายังศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงหากเห็นว่า มีผู้หาทางล้มล้างสถาบันกษัตริย์

คำตัดสินครั้งนี้มีขึ้นจากกรณีที่นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เพื่อให้ศาลพิจารณาว่าการกระทำของแกนนำประท้วงทั้งสามในการปราศรัยเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองหรือไม่ และมีคำสั่งให้บุคคลทั้งสามเลิกการกระทำดังกล่าว

เมื่อวันพุธ สำนักข่าวไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำถึงจุดยืนของพลเอกประยุทธ์และคณะรัฐบาลว่าไม่สนับสนุนการแก้ไขและยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และยืนยันว่ารัฐบาลบริหารประเทศโดยยึดหลักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งในเสาหลักที่สำคัญของชาติไทย และไม่ควรนำมาเป็นประเด็นในการแบ่งข้างให้เกิดความแตกแยกในสังคม และยังถือเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนในการปกป้อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเสาหลักและศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติ

ทางด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานตัวเลขจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยระบุว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงและการเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้วอย่างน้อย 1,636 คน โดยมี 154 คนถูกตั้งข้อหาละเมิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ศาสตราจารย์ไทเรลล์ ฮาเบอร์คอร์น ผู้เชี่ยวชาญด้านไทยศึกษา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน กล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่า คำตัดสินในครั้งนี้ทำให้เกิดความกังวลว่า ผู้ประท้วงอาจเผชิญข้อหาที่ร้ายแรงกว่า เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ที่มีบทลงโทษผู้เป็นกบฎสูงสุดเป็นการจำคุกตลอดชีวิตหรือโทษประหารชีวิต โดยกฎหมายดังกล่าวมักใช้กับผู้ที่พยายามก่อรัฐประหาร

Thailand Protests
Thailand Protests

อาจารย์ฮาเบอร์คอร์นยังระบุด้วยว่า คำตัดสินครั้งนี้อาจมีผลต่อจำนวนผู้ประท้วงที่จะลงท้องถนนต่อไปในอนาคต

ขณะเดียวกันสำนักข่าวเอพีรายงานคำพูดของ ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการด้านกฎหมายและกรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ที่ระบุว่า คำตัดสินดังกล่าวมีผลบังคับใช้นอกเหนือจากกรณีของแกนนำประท้วงทั้งสาม โดยคำตัดสินคั้งนี้ขีดเส้นสร้าง “โซนสีแดง” ขึ้นมา เพื่อสื่อว่า หากไม่ต้องการถูกตั้งข้อหาหรือถูกลงโทษ ก็ต้องไม่แตะต้องประเด็นสถาบันกษัตริย์

ทางด้าน สุนัย ผาสุก นักวิจัยอาวุโสขององค์กร Human Rights Watch กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า คำตัดสินดังกล่าวมีผลห้ามการรณรงค์เพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์โดยสิ้นเชิง เพราะส่งผลให้การกระทำดังกล่าวผิดกฎหมาย และผู้ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษ

ศาสตราจารย์ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า คำตัดสินดังกล่าวไม่น่าแปลกใจ สถาบันกษัตริย์ได้รับความเคารพอย่างสูง อยู่ในฐานะจับต้องไม่ได้ และคำตัดสินครั้งนี้จะทำให้อุณหภูมิการเมืองไทยร้อนแรงขึ้น

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ปนัสยาที่ยืนรอฟังคำตัดสินบริเวณศาลรัฐธรรมนูญ ระบุหลังรับทราบคำตัดสินว่า เธอไม่ได้มุ่งหมายล้มล้างสถาบัน อย่างไรก็ตาม เธอเคารพคำตัดสินของศาล

สำนักข่าวดังกล่าวยังรายงานด้วยว่า กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของแกนนำประท้วง กล่าวว่า แกนนำอีกสองคน ได้แก่ อานนท์ นำภา และภานุพงศ์ จาดนอก ที่ขณะนี้ถูกคุมขังระหว่างรอพิจารณาคดี ไม่ได้ต้องการล้มล้างสถาบันเช่นกัน และคำตัดสินดังกล่าวอาจส่งผลต่ออนาคตในการเรียกร้องเพื่อการปฏิรูปได้

  • เนื้อหาบางส่วนจากสำนักข่าวเอพี สำนักข่าวรอยเตอร์ สำนักข่าวเอเอฟพี สำนักข่าวบลูมเบิร์ก และสำนักข่าวไทยรัฐออนไลน์
XS
SM
MD
LG