ชาวชุมชนไทยในนครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย สะท้อนความคิดเห็นหลากหลายมุมมอง ที่มีต่อนโยบายผู้อพยพคนเข้าเมืองของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 47 ที่ประกาศบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อปราบปรามผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย และกลายประเด็นถกเถียงจากผู้มีความเห็นทั้งสองฝ่าย
ขณะเดียวกัน นโยบายดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของชาวชุมชนไทย ในอเมริกา โดยเฉพาะการเนรเทศผู้อพยพ ที่อยู่อย่างผิดกฎหมายหลายล้านคนหรือ Mass Deportation ที่เริ่มมีปฏิบัติการไปแล้วในหลายเมือง ตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
แนวทางรับมือการบังคับใช้กฎหมายอิมมิเกรชั่น หรือ การตรวจคนเข้าเมืองของทางการสหรัฐฯ ได้รับการหยิบยกขี้นมาเป็นประเด็นภายในชุมชนไทยในเกือบจะทันที ในการจัดสัมมนาของสมาคมไทย แห่งแคลิฟอร์เนีย ภาคใต้ ที่มุ่งให้ความรู้เบื้องต้น เกี่ยวกับกฎหมาย อิมมิเกรชั่น วิธีปฎิบัติตัว และการเตรียมพร้อมต่างๆให้กับคนไทยในอเมริกา โดยมีทนายความด้านอิมมิเกรชั้นในฐานะผู้เชี่ยวชาญโดยตรงมาให้ความรู้
นริศรา ทศานนท์ ทนายความด้านกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง สหรัฐฯ จากสำนักงานทนายความ Tasanont Law Firm ที่ทำงานกับชุมชนไทยมานานมากกว่า 20 ปี มองว่า ผู้อพยพเข้าเมืองสหรัฐหลากหลายเขื้อชาติ ยังมีความสำคัญและเป็นกลไลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอเมริกา
"คนไทยมาอยู่ที่นี่เป็นคนสงบนะคะ เป็นคนไม่ก่อปัญหา ขยันทำงาน และก็จะมีคนไทยอยู่ใน กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร (food industry) เยอะมากเลยค่ะ ซึ่งก็เป็นพลังของประเทศนี้ ปัจจุบันนี้สหรัฐยังต้องพึ่งอาศัยคนที่มาจากต่างประเทศ สำหรับงานบางชนิด เช่นการเป็นวิศวะ การเป็นหมอ ทุกอย่างที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เราพึ่งคนจากต่างประเทศทั้งนั้นเลยค่ะ” ทนายความด้านกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง กล่าวกับ วีโอเอ
โอภาส มะลิพันธุ์ นายกสภาไทยทาวน์ องค์กรที่ดูแลพื้นที่เขตไทยทาวน์ ลอสแอนเจลิส แหล่งอาศัยของชุมชนไทยและธุรกิจไทยที่ใหญ่ที่สุดนอกราชอาณาจักร บอกกับ วีโอเอ ไทยว่ามีความกังวลกับวิกฤตแรงงานที่อาจส่งผลระยะยาว
“ ผมได้มีโอกาสไปที่วอชิงตันดีซี ได้คุยกับนายกสมาคมร้านอาหารไทยที่โน่นในเรื่องของการขอวีซ่าเร่งด่วนนะครับให้แรงงาน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในร้านอาหารไทยหรือรายงานในร้านนวดนะครับ ซึ่งตอนนี้เราขาดแคลนมาก ..ก็จะมีความกังวลว่าจะเกิดการล่าช้าของขั้นตอนในการขอวีซ่าตัวนี้ขึ้นมานะครับก็จะทำให้มีผลกระทบในการที่แรงงานเราขาดแคลน ก็จะไม่ได้รับการเพิ่มเติมแรงงานเพื่อมาช่วยในเป็นกำลังในการทำงานตรงนี้มากขึ้น
ขณะที่ นิรมล สุจิตโตสกุล ชาวชุมชนไทยในแคลิฟอร์เนีย ที่สนับสนุนนโยบายการปราบปราบผู้อพยพคนเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายของประธานาธิบดีทรัมป์มาตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง มองว่า ถึงเวลาแล้วที่อเมริกาจะต้องมีการจับระเบียบครั้งใหญ่ และให้ความสำคัญกับคนในชาติหรือผู้ย้ายถิ่นฐานที่เข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมายก่อน
“ เห็นด้วยเกี่ยวกับนโยบายตรวจคนเข้าเมือง (อิมมิแกรนท์) เพราะว่าอิมมิแกรนท์ตอนนี้ คือปัญหาสังคมของอเมริกา (นโนบาย) ช่วยทำให้ภาพลักษณ์ของอเมริกา อาจจะดูว่าเป็นคนที่ไม่มีเมตตากรุณาเหมือนอดีต แต่ต้องเข้าใจนะคะว่าขณะนี้ ประเทศอเมริกามีความยากลำบากมาก ในการที่จะดูแลคนเหล่านี้ คนเหล่านี้ถ้าเข้ามาอย่างถูกต้อง หรือเข้ามาอย่างเต็มใจที่จะรับเข้ามา อันนี้คือพี่เห็นด้วย .. ต้องอย่าลืมว่ามีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ เด็กรุ่นที่กำลังทำงานอยู่ทุกวันนี้ ต้องแบกภาระ กับคนกลุ่มนี้ ซึ่งมันมากเกินกำลังของเด็กกลุ่มนี้ ก็อยากสนับสนุนนโยบาลนี้ไปก่อน" นิรมล ย้ำถึงจุดยืนการสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองอย่างเข้มข้น
เช่นเดียวกับ ภานุมาศ ศรีแก้ว ชาวไทยในลอสแอนเจลิส ที่มีมุมมองสนับสนุนมาตรการปราบปราบคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย บอกว่า มีความเป็นธรรม
“ ก็รู้สึกมันก็ได้รับความเป็นธรรมกับผู้อยู่อย่างถูกกฎหมาย ก่อนที่เราจะเข้ามาตรงนี้ เราก็ทำตามกฎหมายทุกอย่าง คือทำขั้นตอนให้มันเป็นระเบียบในเอกสาร หรืออะไรก็แล้วแต่ เราก็ทำตามกฎหมายที่เขาให้ทำ ก็ทำตามกฎหมาย ตอนนี้พี่ถือว่าทำถูกต้องแล้วค่ะ ไม่ได้รุนแรงอะไร เพราะว่า อย่างคนที่เค้าลักลอบเค้ามาตอนนี้ 20,000 กว่าคนต่อวัน แล้วก็ตอนนี้มันลดเหลือประมาณ 100 กว่าคนต่อวัน พี่ก็ว่าถือว่าใช้ได้” ภานุมาศ กล่าว
อินโด จำพันธ์ ทนายความชาวลาวที่ทำคดีให้ชุมชนไทยมามากกว่า 30 ปี จากสำนักทนายความอินโต จำพันธ์ มองว่ารัฐบาลทรัมป์ จะพุ่งเป้าไปยังผู้อยู่อย่างผิดกฎหมายที่มีคดีอาญาติดตัวก่อน
“ ผมคิดว่า เจ้าหน้าที่จะถูกกดดันให้จับคนที่มีคดีอาญาติดตัว แล้วอยู่อย่างผิดกฎหมายก่อนอื่น เขาจะไม่ให้คนเข้ามอยู่อเมริกาทันที หากมีการขอลี้ภัย เขาจะให้ไปรออยู่ต่างประเทศ..
ชัญชนิษฐ์ มาร์เทอร์แรล ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมชาวไทย หรือ ThaiCDC องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ในลอสแอนเจลิส บอกกับ VOA Thai ว่า ทางองค์กรพร้อมรณรงค์และให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายกับชาวชุมชนไทย
“ คนไทยของเราประมาณ 50% ในสหรัฐที่ไม่มีใบอะไรทั้งสิ้นเลยก็จะเสี่ยงมากเลยเขาอาจจะโดนในเนรเทศ แล้วถ้าโดนเนรเทศจะเป็นอย่างไร ถ้าเขามีลูกเต้าที่นี่ มีสามี ภรรยาที่นี่แล้วเขาก็โดนเนรเทศ ครอบครัวก็จะแตก แล้วเราก็ต้องการให้ชุมชนไทยทราบ ว่าศูนย์ส่งเสริมชาวไทยจะเริ่มรณรงค์ให้คนไทยทั่วไปเข้าใจสิทธิของเค้า ถ้าเค้าไม่มีใบ แล้วก็ได้รับการปรึกษากฎหมายฟรี"
ในส่วนของเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายทั้ง Los Angeles Police Departent หรือ LAPD และสำนักงานเชอรีฟเขตปกครองลอสแอนเจลิส หรือ Los Angeles County Sheriff's Department ออกมายืนยันกับชุมชนไทยว่าทั้งสองหน่วยงานจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ในการร่วมมือหรือปฎิบัติงานกับเจ้าหน้าที่อิมมิเกรชั่นหรือ ICE
จิม แมคโดนัล หัวหน้าตำรวจแอลเอพีดี บอกกับ วีโอเอ ไทย ในโอกาสที่มาพบปะกับหัวหน้าชุมชนไทยหลังเข้ารับตำแหน่ง ว่า แอลเอพีดี พร้อมที่จะบริการประชาชนและอยากให้ประชาชนเชื่อมั่น ว่าแอลเอพีดียังคงจะปฎิบัติตามนโยบายที่ยึดถือกันมาตลอด 45 ปี
ด้าน คิด ฉัตรประภาชัย เจ้าหน้าที่เชอร์รีฟ (Sheriff) เชื้อสายไทย และเพิ่งได้รับตำแหน่ง นายกสมาคมไทยแห่งแคลิฟอร์เนียภาคใต้ กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่มติชัดเจนนะครับ ของท่านเชอรีฟ โรเบิร์ต ลูนา ก็บอกว่า ทางเราไม่มีนโยบายที่จะจับหรือสอบถามสถานะภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าท่านเป็นเหยื่อหรือท่านเป็นพยาน ในคดีต่างๆ เรายินดีที่จะป้องกันหรือสนับสนุนท่าน
ตัวเลขอ้างอิงจากสถานเอกอัครทูต ณ กรุงวอชิงตัน ประเมินว่า มีคนไทยที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาจำนวน 500,000 คน กว่าครึ่งหนึ่ง หรือ ราว 2 แสน 5 หมื่น คน อาศัยอยู่ในเขต 13 รัฐฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในเขตปกครองลอสแอนเจลิส ถือเป็นชุมชนคนไทยที่อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นราว 1 แสนคน ส่วนตัวเลขอ้างอิงจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเเละศุลกากรแห่งสหรัฐฯ หรือ ICE ระบุว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 2019-2024 มีคนไทยที่อาศัยอยู่อย่างผิดกฎหมายถูกส่งกลับประเทศจำนวน 126 ราย และยังมีอีก 619 รายที่ถูกคำสั่งเนรเทศ แต่ยังอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา
กระดานความเห็น