“อยากเห็นบ้านเมืองเปลี่ยนแปลง เพราะว่าดูแล้วอีกพรรคนึง มันไม่ค่อยไหว นะการเมืองมันไม่ค่อยไหว อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอยากให้คนที่มีแนวคิดที่แตกต่างจากแนวคิดเดิมๆ เข้ามาปกครองบ้านเมืองดู ..”
นิรมล สุจิตโตสกุล ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งสหรัฐฯ เชื้อสายไทย วัย 71 ปี จากเมืองฮันทิงทัน บีช (Huntington Beach) ในเขตออร์เรนจ์ เคาท์ตี้ รัฐแคลิฟอร์เนีย สะท้อนความเห็นส่วนตัว กับ วีโอเอไทย หลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคริพับลิกัน คว้าชัยในการเลือกตั้งสำเร็จ และเตรียมก้าวสู่ทำเนียบขาว บริหารประเทศอีก 4 ปี
พลังเงียบสนับสนุน 'ทรัมป์' จากออร์เรนจ์เคาท์ตี
นิรมล ซึ่งอาศัยในอเมริกามากว่า 20 ปี บอกว่า เธออยู่ในเขตออร์เรนจ์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นเขตชื่นชอบริพับลิกัน สวนทางกับเสียงของชาวแคลิฟอร์เนียส่วนใหญ่
" ผลการเลือกตั้งที่ออกมายอมรับว่าดีใจมาก ขนาดตื่นมาเที่ยงคืน อยู่คนเดียวลุกขึ้นมาเฮเลย แล้วก็ไปเจอเพื่อนที่เป็นชาวเวียดนามด้วยกันอายุ 77 แล้วเขาก็ถาม เขาบอกว่าเขาดีใจมากที่ได้คนนี้มา เขาบอกทรัมป์ เราสองตนกอดกันดีใจมากเลย อันนี้คือพลังเงียบของพวกผู้หญิง ต้องใช้คำนี้เลย มีหลายคนที่เป็นชาวเวียดนาม พี่อยู่ ออร์เรนจ์เคาท์ตี (Orange County ) เห็นใช่มั้ยค่ะเป็นสีแดงเลย พลังเงียบ พลังเงียบ! .." นิรมล เล่า บรรยากาศหลังทราบผลการเลือกตั้ง และหลังจากนี้ เธอคาดหวังว่า จะเกิดความเปลี่ยนแปลงในแง่ดีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ
".. คิดว่าต้องเห็นผลการเปลี่ยนแปลงในเร็วๆวันนี้ (ทรัมป์) เขาเป็นนักธุรกิจ เขาทำอะไรก็แล้วแต่ เขาไม่เคยที่จะทำให้ช้า ..(ถ้า) เศรษฐกิจดี โอกาสที่จะช่วยเหลือคนจน รับรองถึงแน่ แต่ช่วงนี้เศรษฐกิจมันไม่ดี บางอย่างมันก็ตัดเอาไป (เพื่อ) บางอย่าง..
..ก็คือให้ไปเอาเศรษฐกิจบูมขึ้นมาก่อน แล้วตอนนี้มีหลายๆ อย่างที่ดึงเศรษฐกิจที่ผลิตสินค้าอยู่นอกประเทศเข้ามาที่ประเทศนี้ ยกตัวอย่างลูกสาวพี่ทำงานโรงงานยาสูบตอนนี้ตั้งอยู่ที่ นอร์ทแคโรไลนา(North Carolina) เขากำลังดึงโรงงานที่ผลิตอยู่ต่างประเทศ แล้วต้องเสียภาษีหนักๆ กำลังดึงเข้ามาผลิตที่ประเทศอเมริกา เพื่อที่จะให้คนอเมริกามีงานทำเพิ่มขึ้น." นิรมล กล่าว
เงื่อนไข เศรษฐกิจ ชี้ขาดเลือกตั้ง?
เพ็นนี แซ่ตั้ง มายเออร์ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเสหรัฐฯ เชื้อสายไทย จาก เมืองลากูนา บีช (Laguna Beach) รัฐแคลิฟอร์เนีย บอกว่า ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจก็ถือเป็นเหตุผลสำคัญที่มีส่วนชี้ขาดผลการเลือกตั้งที่ออกมา
“ใช่ เพราะว่าตอนนี้ เศรษฐกิจมันกำลังแย่ พอรู้สึกว่า ทรัมป์ขึ้นมาแล้ว รู้สึกว่า เศรษฐกิจ (Economy) เขาเชื่อว่าจะดีขึ้น ช่วงนี้เมืองจีนเค้ากำลังตี ยูเอส (สหรัฐฯ)เยอะ ทางทรัมป์นี้เค้ายังเชื่อว่า ทางฝ่ายอเมริกาควรที่จะดึงมาคนอเมริกันกลับมาทำงาน ถ้าจะดูจริงๆแล้ว ผลประโยชน์ของคนฝรั่ง โรงงานที่ขายรถหรือทำรถปิดไป เพราะว่าถูกตลาดของเอเชียตีหมดเลย อันนี้เราก็ต้องเข้าใจเขาว่าเขาพยายามดึงของคนของเค้าที่อเมริกาคืนมา.." เพ็นนี บอกถึงความ กังวลใจของเธอ และว่า ถึงกระนั้น เธอก็ยังเชื่อในนโยบายแนวก้าวหน้าจากฝั่งเดโมแครต ที่มุ่งสร้างความเท่าเทียมและสมดุลในสังคม
"ตัวเองจริงๆ แล้วเรา แนวเสรีนิยม (Liberal) จริง แต่เราก็ ต้องสมดุลย์ทั้ง 2 ฝั่ง เราก็ไม่รู้จะเลือกฝั่งไหน (การเลือกตั้งที่ผ่านมา) เราก็ต้องเลือกฝั่งที่เราคิดว่าสนับสนุนคนจนมากที่สุดเราก็เลยแฮร์ริส ไม่ใช่อะไรหรอก ผู้หญิงด้วยกัน ถึงได้เลือก เราก็ทำแบบนั้นไป" เพ็นนี บอกจุดยืนของเธอกับ 'วีโอเอ ไทย'
หวั่น คนรากหญ้า ถูกลืม
ด้าน จีราพรรณ ชไนเดอร์ อาชีพ พยาบาล จากนครลอส แอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย บอกกับ วีโอเอ ไทย ถึงความกังวลในแนวทางของว่าที่ผู้นำคนใหม่ จากริพับลิกัน ว่า อาจจะมุ่งนโยบายการสนับสนุนไปยังกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ในระดับบน มากกว่า กลุ่มชนชั้นกลาง หรือ คนทำงานในระดับรากหญ้า ขณะเดียวกันก็รู้สึกเสียใจในผลการเลือกตั้งที่ไม่เป็นไปตามที่เธอคาดหวัง
“ คือว่าเสียใจนิดนึง ในในฐานะที่เป็นผู้หญิง เราก็อยากจะเห็นผู้หญิงที่มีความสามารถขึ้นมาทำอะไรดีๆให้กับประเทศที่เคยเป็นที่หนึ่ง พี่ใช้คำพูดที่เคยเป็น เพราะพี่อยู่ที่นี่มันก็ 20 ปี ความเป็นที่หนึ่งของประเทศที่พี่มีอยู่ก็คือเหมือนบ้านเกิดครั้งที่ 2 ของพี่ มันไม่เหมือนเมื่อก่อน ..
สิ่งที่พี่เป็นห่วงคือเขาไม่ดูแลคนของเขา เข้าใจไหมคะ คือ พลเมืองอเมริกัน (US Citizen) ก็คือคนของเขา เขาจะไม่ดูแล แต่เค้าจะไปดูแลคนที่ใหญ่กว่า คนมีพาวเวอร์ ก็คือมีคอนเนคชั่น ไปดึงคนนั้นมาคนนี้มา แต่ไม่โฟกัสคนตัวเล็กๆ ประชาชนเล็กๆ อย่างเรา คนทำมาหากิน หาเช้ากินค่ำพ่อค้าแม่ค้า..
..ถ้าจะฝากจริงๆ ก็คือขอให้เขากลับมาดูคนของเขา กลับมาพบกันในสิ่งที่มันดีที่สุดสมัยก่อนแล้วสร้างขึ้นมาใหม่ กลับมามองคนของเขา คนที่ทำอาชีพเล็กๆน้อยๆ กลับมามองในประเทศมาพัฒนาประเทศ
ชาคริต อาชวอำรุง อายุ 47 ปี ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งสหรัฐฯ เชื้อสายไทย ที่เมือง แพลนเทชั่น (Plantation) ในเขต โบรวาร์ด เคาท์ตี้ (Broward County) ชานเมืองฟอร์ตลอเดอร์เดล (Fort Lauderdale) ตอนใต้ของรัฐฟลอริดา บอกว่า ตกใจกับผลการเลือกตั้ง
" รู้สึกตกใจ แต่ไม่ได้ตกใจที่ทรัมป์ชนะ คือรู้อยู่แล้วว่าทรัมป์มีสิทธิ์ชนะ เพราะมันสูสีกัน แค่ตกใจทรัมป์ชนะเยอะขนาดนี้ เพราะว่าทรัมป์ที่ผ่านมาเขาแพ้ Popular vote มาทั้ง 2 ครั้งตั้งแต่ปี 2016 และปี 2020 พี่ก็คิดว่ารอบนี้เขาก็คงแพ้ คะแนนความนิยม หรือ Popular vote อีก ถ้าชนะ ก็คงชนะ เสียงคณะผู้เลือกตั้ง หรือ Electoral College คือตกใจ แต่ก็ยอมรับ...”
เชื่อ ประเด็นคนเข้าเมือง และสวัสดิการสังคม กระทบคนไทยในอเมริกา
"..ปัญหาใหญ่ของพรรคเดโมแครตคือนโยบายดีสำหรับคนชั้นกลางชนชั้นล่าง แต่ว่านโยบายเยอะกว่ากว่าคนจะเข้าใจ ในขณะที่รีพับลิกัน เรียกว่าโกหกอะไรก็ได้ เขาพูดอะไรสั้นๆง่ายๆ เหมือนทรัมป์บอกว่าเดี๋ยวเข้ามานะจะดีพอร์ท (เนรเทศ) ออกไปให้หมดเลยพวกคนที่เข้ามาผิดกฎหมายแล้วออกไป ปัญหาทั้งหมดจะดีซึ่ง ..พอนักวิชาการมาดูเองจริงๆ แล้ว แนวโน้มมันไม่เป็นอย่างนั้นไง คือมันจะแก้ปัญหาเรื่องแต่มันจะมีปัญหาใหม่ในบางเรื่อง อาจจะแย่กว่านั้นซึ่ง..เราทำยังไงล่ะเขาก็ไม่พูดถึงแล้วหลายๆคนก็คิดไม่ถึงตรงนั้นมันก็ลำบาก.." ชาคริต แสดงความเห็น และ เชื่อว่านโยบายด้านผู้อพยพ กับ การตัดงบฯ สวัสดิการสังคม จะเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อคนไทยในอเมริกามากที่สุด
" เขาพูดตลอดเลยว่าเขาจะ การเนรเทศขนานใหญ่ (Mass deportation) แล้วก็ทำให้ ขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมือง มันยากขึ้นแล้วถ้ารีพับลิกันพูดมาสักพักจะตัดงบประกันสังคม (Social Security) และหลักประกันสขุภาพ Medical Medicaid
..ในฐานะคนไทยและเพื่อนคนไทยที่พี่รู้จักส่วนมากเลยนะเป้าหมายในชีวิตในการอยู่อเมริกาก็จะมี 2 ข้อ 1 ก็คือทำงานทำงานๆ สะสมโซเชียลซีเคียวริตี้จนถึงอายุเกษียณก็ย้ายกลับเมืองไทยได้เงินสดโซเชียลซีเคียวริตี้ไปใช้เมืองไทย สองก็คืออยากจะเอาลูกเอาหลานหรือว่าแต่งงานพาคนที่เรารักมาอยู่ที่อเมริกาด้วยทีนี้ถ้าเกิดว่ารัฐบาลใหม่ของทรัมป์ยกเลิกโซเชียลซีเคียวริตี้หรือทำให้มันลำบากยากเย็นขึ้นมันก็กระทบกับคนไทยก็หวังว่าเขาจะไม่ไปไกลถึงขนาดนั้นครับ.... " ชาคริต บอกกับ วีโอเอ ไทย
ด้าน สมยศ ทวีลาภ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เชื้อสายไทยในลอสแอนเจลิส ตั้งความหวังขอให้ผู้นำสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนคนเชื้อสายไทยในอเมริกามากขึ้น
"สำหรับชุมชนชาวไทยเรา แต่หวังว่าประธานาธิบดีคนใหม่นั้นก็จะเล็งเห็นความสำคัญของชุมชนชาวไทยที่อยู่ในมลรัฐต่างๆ แล้ว ก็ช่วยเหลือความเป็นคนไทยของเราให้มีส่วนร่วมในการร่วมสร้างชาติที่เรามาอาศัยอยู่ตรงนี้มากยิ่งขึ้นครับ" สมยศ กล่าว
ข้อมูลจากการสำรวจสำมโนประชากรสหรัฐฯ ปี 2020 (US Census) พบว่า จำนวนคนเชื้อสายไทยในสหรัฐฯ ประมาณ 3 แสน 2 หมื่นคน โดยถือเป็นหนึ่งในกลุ่มชนกลุ่มน้อยชาวเอเชียในสหรัฐฯ ที่มีจำนวนประชากรประมาณ 20 ล้านคน หรือ ราวร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมดของสหรัฐฯ
กระดานความเห็น