ศาลอาญามีคำพิพากษาในวันจันทร์ จำคุกศิลปินดัง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกลในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ม.112) และได้รับการประกันตัวในเวลาต่อมา
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ชลธิชา แจ้งเร็ว ส.ส. เขตปทุมธานี พรรคก้าวไกล ถูกพิพากษาจำคุก 2 ปีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112 ) จากการปราศรัยในที่ชุมนุมเมื่อปี 2564 โดยมาริสา ปิดสายะ หนึ่งในทนายความในคดี ระบุว่าศาลอนุญาตให้ประกันตัวเพื่อสู้คดีต่อในชั้นอุทธรณ์
เอพีรายงานว่า ชลธิชาถูกดำเนินคดีจากส่วนหนึ่งของการปราศรัยที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เพิ่มพระราชอำนาจให้กับพระมหากษัตริย์ในการควบคุมราชทรัพย์ที่บริหารจัดการโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ศาลระบุว่า การปราศรัยของชลธิชาอาจสร้างความเข้าใจผิดแก่ประชาชนว่ากษัตริย์สามารถใช้เงินภาษีเพื่อกิจส่วนพระองค์ และสามารถใช้พระราชอำนาจเพื่อแทรกแซงทางการเมืองได้ ซึ่งถือเป็นการทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียงชื่อเสียง
ชลธิชา ที่เพิ่งได้รับการจัดอันดับเป็นหนึ่งในผู้นำแห่งยุคสมัยต่อไปของ TIME’s Next Generation Leaders 2024 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ไม่รู้สึกแปลกใจกับคำตัดสิน เพราะคดี ม.112 ส่วนใหญ่ก็ได้รับการตัดสินว่ามีความผิด
ในวันเดียวกัน ศาลมีคำสั่งจำคุก 4 ปี ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ ‘แอมมี่ เดอะบอททอมบลูส์’ ศิลปิน นักร้องที่มีบทบาทในการเรียกร้องทางการเมือง จากคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเผาพระบรมฉายาลักษณ์หน้าเรือนจำคลองเปรมเมื่อปี 2564 เพื่อแสดงความไม่พอใจที่เพื่อนนักเคลื่อนไหวถูกจำคุกในคดี ม.112 ณ ขณะนั้น
ไชยอมรได้รับการประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ในเวลาต่อมา โดยเขากล่าวกับสื่อมวลชนว่า รู้สึกดีใจและหวังว่าจะเป็นสัญญาณที่ดีให้กับเพื่อนที่ยังไม่ได้รับอิสรภาพ ตามการรายงานของประชาไท
ไชยอมรถูกดำเนินคดีจาก ม.112 การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ โดยศาลพิจารณาว่าการเผาพระบรมฉายาลักษณ์และโพสท์ภาพดังกล่าว เป็นการขู่เข็ญ ลดทอนคุณค่า และดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ อ้างอิงจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมือง
กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งในช่วงปลายปี 2563 สืบเนื่องจากกระแสการชุมนุมประท้วงที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายประการ รวมถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จนมีผู้ถูกดำเนินคดีตามข้อหานี้อย่างน้อย 272 คน อ้างอิงตามบันทึกของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
กฎหมายมาตรานี้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองในสภา หลังมีสมาชิกรัฐสภาหลายคนประกาศว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล ที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งปี 2566 เนื่องจากนโยบายให้มีการหารือเพื่อแก้ไข ม.112 จนท้ายที่สุด พรรคก้าวไกลประสบความล้มเหลวในการจัดตั้งรัฐบาล
เมื่อเดือนมกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่านโยบายดังกล่าวของพรรคก้าวไกลเป็นการใช้สิทธิ เสรีภาพเพื่อทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและสั่งให้ยุติการกระทำดังกล่าว
คำวินิจฉัยข้างต้น ตามมาด้วยการร้องเรียนองค์กรอิสระให้มีการยุบพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมืองของกรรคการบริหารพรรคในเวลาต่อมา
อีกคดีที่มีความเคลื่อนไหวในวันจันทร์ คือคดีตามความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (ม.116) ที่ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี จากกรณีการโต้เถียงกับตำรวจที่กำลังรักษาความปลอดภัยเส้นทางเสด็จของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดยศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว
เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ “บุ้ง” นักเคลื่อนไหวประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จากกลุ่มทะลุวัง ที่อยู่ในระหว่างรักษาตัวที่สถานพยาบาลร่วมกับทานตะวัน เสียชีวิตอย่างกะทันหัน โดยรายละเอียดของการเสียชีวิตนั้นกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
ความผิดตาม ม.116 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี กับแสดงความเห็นโดยไม่สุจริต เพื่อยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือรัฐบาล รวมถึงก่อความไม่สงบหรือล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
- ที่มา: รอยเตอร์, เอพี, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ประชาไท
กระดานความเห็น