ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เปิดปมความขัดแย้งที่ ‘จตุรัสภูมิพลฯ’ แมสซาชูเซทส์


Pro-Thai democracy protesters make a three-finger salute during a clash between pro-Thai democracy protesters and Thai royalists during the demonstration at King Bhumibol Adulyadej Square in Cambridge, MA Nov 1, 2020.
Pro-Thai democracy protesters make a three-finger salute during a clash between pro-Thai democracy protesters and Thai royalists during the demonstration at King Bhumibol Adulyadej Square in Cambridge, MA Nov 1, 2020.

การเผชิญหน้ากันของชาวไทยซึ่งเห็นต่างทางการเมือง ที่บริเวณจตุรัสภูมิพล ในเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซทส์  ทำให้เชื้อไฟความขัดแย้งของทั้งสองกลุ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทั้งสองฝ่ายมีจุดยืนแตกต่างกันอย่างชัดเจนและไม่มีทีท่าจะประนีประนอมกันได้

ปรากฎการณ์ กลุ่มชาวไทย 2 กลุ่มใหญ่ที่เดินทางไปชุมนุม และเผชิญหน้ากัน บริเวณ จตุรัสภูมิพลฯ หรือ Bhumibol Square สถานที่รำลึกการเป็น 'นครแห่งพระราชสมภพ' ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9 ในนครเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซทส์ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 (ค.ศ.2020) ที่ผ่านมา สะท้อนถึงความขัดแย้งในสังคมไทยที่ขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ

เผยนาทีเผชิญหน้า

บริเวณลานกว้างหัวมุมถนนเอลเลียต (Eliot) และ ถนนเบนเนท (Bennet) ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ‘ภูมิพลสแควร์’ แน่นขนัดไปด้วยกลุ่มคนไทยสองกลุ่มใหญ่

กลุ่มหนึ่งร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ปักหลักอยู่รอบๆ แท่นจารึกพระเกียรติคุณในจัตุรัสภูมิพลฯ ยืนยันในความจงรักภักดี ขณะที่อีกกลุ่มรวมตัวจัดกิจกรรมกล่าวคำปราศรัยและชูสามนิ้ว เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์คู่ขนานไปกับการชุมนุมในประเทศไทย

Pro-Thai democracy protesters and Thai royalists face each other during the demonstration at King Bhumibol Adulyadej Square in Cambridge, MA Nov 1, 2020.
Pro-Thai democracy protesters and Thai royalists face each other during the demonstration at King Bhumibol Adulyadej Square in Cambridge, MA Nov 1, 2020.

สร้าง 'อิมแพค' อย่าง 'สันติ' บนพื้นที่ 'ละเอียดอ่อน'

อภิชญา เทียบเพชร แกนนำกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยไทยในบอสตัน (Boston for Thai Democracy) บอกเหตุผลถึงการเลือกบริเวณ ‘จัตุรัสภูมิพลฯ’ เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมว่า ต้องการ ‘IMPACT’ ในสิ่งที่พวกเขาต้องการจะนำเสนอ

เป็นสัญลักษณ์ อะไรบางอย่างที่มันโยงกับไปที่ไทยได้ชัดที่สุดในเมืองนี้..การที่เราได้มาจัดตรงนี้ มันชื่อมโยงไปถึงเนื้อหาที่เราจะนำเสนอได้ไม่ยากเลย ...
วีระไกร จินังกุล แกนนำกลุ่ม Boston for Thai Democracy

“ถ้าไปสถานที่ตรงนั้นแล้วสร้างผลกระทบได้มากสุด เราไปตรงนั้นดีกว่า ก็เลือกตรงนี้แหล่ะ ก็ใช้เหมือนที่ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (แกนนำร้องสิทธิพลเมืองชาวอเมริกันในทศวรรษที่ 70) เวลาที่เขาเดินประท้วงกัน เขาไปประท้วงที่ไหนก็ได้ใช่ไหมคะ? เราก็ใช้อะไรตรงนี้ล่ะคะ ที่ใช้วิธีและการเตรียมการ (implement) ในกิจกรรมที่จัดขึ้น” อภิชญา กล่าวกับ 'วีโอเอ ไทย'

ก่อนหน้านี้กลุ่ม Boston for Thai Democracy เคยจัดการชุมนุมคู่ขนานกับสถานการณ์ในประเทศไทยมาแล้วที่สวนสาธารณะ Boston Common ในนครบอสตัน เมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคม (19 ต.ค. ค.ศ.2020) ที่ผ่านมา ซึ่งครั้งนั้นพวกเขามีการพิจารณาถึง ‘จัตุรัสภูมิพลฯ’ เป็นสถานที่จัดกิจกรรมด้วย แต่ให้เหตุผลว่า “ยังไม่เหมาะสมในเรื่องเวลา และสถานที่ ที่ความละเอียดอ่อนต่อความรู้สึก”

Protesters at Boston Common on October 19th, 2020
Protesters at Boston Common on October 19th, 2020

แต่ในครั้งนี้ วีระไกร จินังกุล แกนนำกลุ่ม Boston for Thai Democracy บอกว่า สมาชิกเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาแล้วที่จะไปจัดกิจกรรมการชุมนุมอย่างสันติเพื่อแสดงเชิงสัญลักษณ์ที่ ‘จัตุรัสภูมิพลฯ’

“เพราะว่าอย่างน้อยมันเป็นสัญลักษณ์ อะไรบางอย่างที่มันโยงกับไปที่ไทยได้ชัดที่สุดในเมืองนี้ ก็แน่นอนว่ามันเกี่ยวพันกันอยู่ การที่เราได้มาจัดตรงนี้ มันชื่อมโยงไปถึงเนื้อหาที่เราจะนำเสนอได้ไม่ยากเลย” วีระไกร จินังกุล กล่าว

เสียงค้านจาก 'ผู้จงรักภักดี'

แต่กิจกรรม ณ สถานที่ที่ถือว่าละเอียดอ่อนครั้งนี้ มีเสียงคัดค้านจากกลุ่มคนไทยอีกกลุ่มท่ี่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย

“ เราบอกไปทางซืตี้ (เทศบาลนครเคมบริดจ์) กับทางตำรวจ ว่าให้พวกเขาไปจัดที่อื่นได้ไหม? ไปที่สวนสาธารณะ Boston Common ก็ดีแล้ว ก็กว้างขวางดี เห็นทำได้ดี เป็นการชุมนุมโดยสงบ peaceful demonstration ซึ่งทางฝ่ายนั้นเขาประกาศว่าเขาได้รับอนุญาตจากทางซิตี้ แต่ทางการบอกว่าไม่ได้อนุญาต เพราะว่าสิ่งเหล่านี้อนุญาตไม่ได้ แต่เนื่องจากว่าเป็น First Amendment (บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญข้อที่ 1 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก) ซึ่งเป็นกฎหมายของที่นี่ ซึ่งเขาทำได้ แต่ว่าต้องดีลกับตำรวจ”

ชลธนี แก้วโรจน์ ผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิ The King of Thailand Birthplace (KTBF) ซึ่งแสดงความเห็นคัดค้านการจัดกิจกรรมที่ ‘ภูมิพลสแควร์’ ของกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยไทยในบอสตัน ให้สัมภาษณ์กับ ‘วีโอเอ ไทย’

King Bhumibol Adulyadej Square, Cambridge, MA Oct,13 2016
King Bhumibol Adulyadej Square, Cambridge, MA Oct,13 2016

เช่นเดียวกับ สมนึก พุลลิ่ง จากมูลนิธิ The King of Thailand Birthplace ที่ออกไปเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ชุมนุมในวันนั้นเช่นกัน

สมนึกบอกว่า หากพวกเขาต้องการให้เราเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ภายใต้บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญข้อที่ 1 พวกเขาก็ต้องไม่ใช้สิทธินั้นบนความทุกข์หรือความเจ็บช้ำน้ำใจของพวกเราที่เคารพและเทิดทูน สถานที่แห่งนี้ซึ่งเป็นสัญลักษณ์รำลึกถึง รัชกาลที่ 9 ของคนไทยทุกคน

“ พวกเขา มาทำลายพวกเรา ทำลายจิตวิญญาณของพวกเรา คนไทยหลายคนที่ทราบเรื่องนี้ต่างร้องไห้เสียใจ และผิดหวังอย่างรุนแรง เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นที่บริเวณ ‘จัตุรัสภูมิพลฯ.. นี่ไม่ใช่สิทธิการแสดงออกทางการพูด หรือ การแสดงออกใดๆ แต่นี่คืออันธพาล และ การก่อการร้าย”

เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ราชวงศ์ไทยในนครเคมบริดจ์

ชลธนี และ สมนึก ร่วมกันทำงานในนามของมูลนิธิ KTBF และเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนไทยในรัฐแมสซาชูเซสต์ ที่พยายามผลักดันเรื่องราวของการอนุรักษ์สถานที่ทางประวัติศาสตร์หลายแห่งในความเป็นนครแห่งพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ไทยมานับสิบปี

ชลธนี แก้วโรจน์ ประธานมูลนิธิ KTBF และ ซาราห์ สจ๊วต ผอ.ฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติฯรัฐนิวแฮมป์เชียร์ ร่วมเปิดแผ่นจารึกการเสด็จประพาสยอดเขา Mt. Washington เ
ชลธนี แก้วโรจน์ ประธานมูลนิธิ KTBF และ ซาราห์ สจ๊วต ผอ.ฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติฯรัฐนิวแฮมป์เชียร์ ร่วมเปิดแผ่นจารึกการเสด็จประพาสยอดเขา Mt. Washington เ

รวมไปถึงบริเวณจัตุรัสภูมิพลฯแห่งนี้ ที่ประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ไทย ได้รับการยอมรับและอนุมัติจากทางการท้องถิ่นในนครเคมบริดจ์ เมื่อกว่า 20 ปีก่อน เพื่อให้จารึกให้เป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เป็นอนุสรณ์สถานที่รำลึกถึงกษัตริย์พระองค์เดียวในโลกที่ทรงพระราชสมภพในสหรัฐอเมริกา และเป็นสัญลักษณ์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ มายาวนาน

พวกเขา มาทำลายพวกเรา ทำลายจิตวิญญาณของพวกเรา..คนไทยจำนวนมาก ไปที่อนุสรณ์สถานแล้วลงกราบกับพื้น ทุกคนต่างให้ความเคารพบูชาสูงสุดกับสถานที่แห่งนี้ ไม่ควรจะมีการลบหลู่ หรือไม่เคารพเกิดขึ้น ...
สมนึก พุลลิ่ง มูลนิธิ The King of Thailand Birthplace

ปกป้องพระเกียรติคุณเต็มกำลัง

ชลธนี และ สมนึก ย้ำว่าสถานที่แห่งนี้คือ สัญลักษณ์เป็นที่เคารพเทิดทูนของคนไทยและชาวอเมริกันจำนวนมาก จึงต้องการออกมาปกป้องมรดกทางประวัติศาสตร์ และพระเกียรติของพระองค์

“เราจะทำอย่างไร เพื่อที่จะปกป้องภาพลักษณ์ที่เราได้สร้างสมมาตั้ง 20 กว่าปีแล้ว คือรู้ว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้คนไทยหลายคนต้องเจ็บช้ำน้ำใจมากๆ แต่เราจะทำยังไงเพื่อที่จะปกป้องสถาบันฯ และปกป้องสิ่งที่เราบูชา นับถือ ตั้งแต่ 20 กว่าปีใครมาที่นี่ (นครแห่งพระราชสมภพในนครเคมบริดจ์) ต่างก็มีความยินดี ดีใจ” ชลธนี กล่าว

สมนึก พุลลิ่ง อธิบายมุมมองของพวกเขาต่อกิจกรรมที่เกิดขึ้น

“เวลาที่เขาไปทำอะไรแบบนั้นที่ อนุสรณ์สถาน ก็เหมือนกับที่เด็กๆไปทำลายที่ฝังศพของคน ไปรื้อทำลายป้ายหลุมศพ หรือเปรียบได้ว่า พวกเขาเข้าไปในโบสถ์สถานที่สำคัญทางศาสนาแล้วไปทำลายรูปศักดิ์สิทธิ์ในศาสนสถาน ซึ่งที่นี่ถือเป็นสิ่งบูชาสูงสุด ..คนไทยจำนวนมาก ไปที่อนุสรณ์สถานแล้วลงกราบกับพื้น ทุกคนต่างให้ความเคารพบูชาสูงสุดกับสถานที่แห่งนี้ ซึ่งไม่ควรจะมีการลบหลู่ หรือไม่เคารพเกิดขึ้น”

King Bhumibol Adulyadej Square, Cambridge, MA Oct,13 2016
King Bhumibol Adulyadej Square, Cambridge, MA Oct,13 2016

เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นที่ปัจเจกพึงกระทำได้

“การที่พวกเราเลือกที่จะมาแสดงออกในวันนี้ อาจทำให้บางท่านได้ตั้งคำถามถึงความเหมาะสม มีความไม่สบายใจ แต่เรามิได้มีเจตนา หรือปรารถนาใดๆที่จะทำให้เกิดความไม่สบายใจเหล่านั้น แต่พวกเรามีเจตจำนงค์ที่จะยึดหลักเสรีภาพในการพูดและแสดงออกที่ปัจเจกพึงมี”

ส่วนหนึ่งของถ้อยแถลงที่ วีระไกร จินังกุล แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม กล่าวกับผู้ร่วมกิจกรรมในวันชุมนุม ท่ามกลางกำลังตำรวจนครเคมบริดจ์หลายนายที่ระดมเข้ามาดูแลความเรียบร้อยการชุมนุม และวางแนวกั้นเพื่อลดการเผชิญหน้าระหว่างผู้ชุมนุมทั้งสองฝั่ง

เปิดพื้นที่ ​พูดคุยอย่างปลอดภัย

แกนนำ กลุ่ม Boston for Thai Democracy ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักศึกษารุ่นใหม่ซึ่งมาร่วมแสดงจุดยืนร่วมกับการชุมนุมในเมืองไทย ยืนยันว่า ไม่ต้องการสร้างความเสียหายให้กับอนุสรณ์สถาน เพียงแค่ต้องการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์สะท้อนของความไม่เท่าเทียม และการเปิดประเด็นพูดคุยอย่างปลอดภัยในเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

Pro-Thai democracy protesters make a three-finger salute during a clash between pro-democracy protesters and royalists during the demonstration at King Bhumibol Adulyadej Square in Cambridge, MA Nov 1, 2020.
Pro-Thai democracy protesters make a three-finger salute during a clash between pro-democracy protesters and royalists during the demonstration at King Bhumibol Adulyadej Square in Cambridge, MA Nov 1, 2020.

“หลักๆคือต้องการพื้นที่ ที่จะเอาข้อเท็จจริง ยกขึ้นมาแล้วมาถกกันอย่างปลอดภัย พื้นที่เสรีที่ทำให้พวกเราคุยกันได้อย่างตรงไปตรงมาเสียที เพราะที่ผ่านมา ข้อห้าม และ Taboo (สิ่งต้องห้าม) เหล่านี้ มันเหมือนกดเราอยู่ แต่จะเรียกว่าเข้าใจพวกเขาไหม เราก็เข้าใจ แต่แบบ เฮ้ย! เสียดายจังเลย คุณอุตส่าห์มาอยู่ในประเทศที่มี (บทบัญญัติแก้ไข)รัฐธรรมนูญข้อที่ 1 ของสหรัฐอเมริกาที่เปิดโอกาสให้มีเสรีภาพในการพูดอย่างเต็มที่แล้ว เราก็น่าจะมานั่งจับเข่าพูดคุยกันเถอะแล้วมาดูจริงๆว่ามันคืออะไร ลองถอดหมวกที่ตัวเองสวมใส่อยู่ ที่เชื่ออยู่ แล้วมาทำความเข้าใจกันมากขึ้น อาจจะทำให้เราเห็นมุมมองที่แตกต่างกันมากขึ้น หรือแม้แต่ตัวผมเองก็จะได้เรียนรู้อะไรมากขึ้นเหมือนกัน” วีระไกร จินังกุล กล่าวถึงข้อเรียกร้องสำคัญของกลุ่ม

ควรมีการดีเบต ระหว่างกลุ่มเรากับกลุ่มเขาว่าเราต้องการอะไรกัน เพราะพวกเราเข้าใจ เด็กที่ไปในวันนั้นเข้าใจว่าเราต้องการ เรามาทำอะไร...
อภิชญา เทียบเพชร แกนนำกลุ่ม Boston for Thai Democracy

เช่นเดียวกับ อภิชญา ที่ยืนยันความสงบและสันติ ของกลุ่มผู้ชุมนุม..

"การใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ที่เราแสดงถึงหมายความว่า เรามาตรงนี้ เราไม่ได้ทำอะไรเสียหาย หรือต้องการสร้างความขัดแย้ง หรือใช้ความรุนแรง เพราะวันนั้นที่เราเห็นที่จตุรัสภูมิพลฯ เขาเอารั้วมากั้น ทั้งๆที่ตอนแรก เราจะเอารั้วไปกั้นอยู่แล้ว เราเตรียมจัดมาว่าเราอยากให้คนมาตรงนี้ แต่เราก็ไม่อยากให้เขาทำอะไรตรงแท่น (อนุสรณ์สถานรำลึกฯ) ไปดูหมิ่น หรือทำอะไรที่กระทบจิตใจของคนอื่น ตอนแรกเราคิดว่าจะล้อมแท่นตรงนั้น แล้วจัดกิจกรรมข้างนอก แล้วจะมีแท่นของเราเองที่ใช้แสดงความคิดเห็น และจะมีการใช้โบว์ขาวผูก หรือไปวางโบว์ขาวไปวางรอบๆแท่นเพื่อแสดงว่าเรามาอย่างสันติ”

เสนอทางออกพูดคุย แบบจริงใจ เป็นไปได้ หรือไม่?

แม้จะไม่มีเหตุการณ์บานปลายในเหตุการเผชิญหน้า แต่เห็นได้ชัดว่า มุมมอง และข้อมูลในจุดยืนจากทั้งสองกลุ่ม มีความแตกต่างกันอย่างมาก จนทำให้เกิดวิวาทะร้อน ที่ยากจะให้ทั้งสองฝ่ายทำความเข้าใจและยอมรับในขณะนี้

ยินดีพูดคุยกับเขาด้วยและให้ความรู้ ว่า ขอบเขตของพวกเขาควรจะเป็นอย่างไร แต่ปรากฎว่าที่แล้วมา ก็รู้สึกจะคุยกันไม่รู้เรื่อง.. เรามีความรู้สึกว่า เราพูดไปแบบนี้ แต่เขาพูดอีกอย่างหนึ่ง คนที่เราดีลด้วยเขาไม่จริงใจ เขาไม่อยากที่จะเข้าใจ...
ชลธนี แก้วโรจน์ ผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิ The King of Thailand Birthplace (KTBF)

อภิชญา เทียบเพชร ​ในฐานะแกนนำของกลุ่มเสนอแนวทางที่จะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น

“ควรมีการดีเบต ระหว่างกลุ่มเรากับกลุ่มเขาว่าเราต้องการอะไรกัน เพราะพวกเราเข้าใจ เด็กที่ไปในวันนั้นเข้าใจว่าเราต้องการ เรามาทำอะไร บางท่านยังพูดว่าไม่ได้ยินที่เราพูด เราพูดอะไร บางคนเดินมาทีหลังว่าพี่เข้าใจว่าน้องพูดอะไรตรงนั้น ขอให้อธิบายให้ฟัง…ถ้าเป็นแบบนั้น เราลือกกันเลยว่าเราจะดีเบตกันไหม? เราลองมานั่งคุยกัน จัดโต๊ะ นั่งอภิปรายกันเลยว่า ที่ท่านต้องการคืออะไร และที่เราต้องการคืออะไร อันนี้คือกิจกรรมที่อยากมุ่งหวังในอนาคตจากพี่ๆด้วยว่าเราอยากทำอะไร” อภิชญา กล่าว

ขณะที่ ชลธนี แก้วโรจน์ ประธานมูลนิธิ KTBF ย้ำว่า การพูดคุยต้องเริ่มจากการแสดงความจริงใจก่อน

“ยินดีพูดคุยกับเขาด้วยและให้ความรู้ ว่า ขอบเขตของพวกเขาควรจะเป็นอย่างไร แต่ปรากฎว่าที่แล้วมา ก็รู้สึกจะคุยกันไม่รู้เรื่อง เรามีความรู้สึกว่า เราพูดไปแบบนี้ แต่เขาพูดอีกอย่างหนึ่ง เสร็จแล้วเขาก็กลับมาพูดอีกอย่างหนึ่ง คนที่เราดีลด้วยเขาไม่จริงใจ (sincere) ก็ต้องพูดว่าเป็นคนตีสองหน้า (two-faced) เขาไม่อยากที่จะเข้าใจ หรือว่าที่จะคุยกัน ถ้าเขาบอกว่าเขาต้องการจะคุยกัน บอกว่าเราจะช่วยเขาได้อย่างไร คือจริงๆก่อนนี้ก็บอกเขานะ คุยกันแล้วบอกว่าเราอยากจะช่วยให้เขาได้ทำสิ่งที่เขาอยากจะทำ แต่เราขออย่างเดียวว่าอย่ามาทำที่นี่ แต่เขาบอกว่า ทำไม่ได้”

นครเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซทส์ ที่มีความเกี่ยวข้องกับหน้าประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ไทยที่ปรากฎบนแผ่นดินสหรัฐฯเมื่อร้อยกว่าปีก่อน กำลังกลายเป็นจุดสนใจและเป็นหนึ่งในปรากฎการณ์ที่สะท้อนถึงการเผชิญหน้าของกลุ่มชาวไทย 2 กลุ่มใหญ่ที่มีพื้นฐานแนวคิดที่แตกต่างกันทั้ง ความเชื่อ ศรัทธา และมุมมองต่อสถาบันเก่าแก่ในสังคมไทยที่กำลังเผชิญกับท้าทายครั้งสำคัญในขณะนี้

เกี่ยวข้อง

XS
SM
MD
LG