ในช่วงเที่ยงวันจันทร์ ตามเวลาที่นครบอสตัน กลุ่มผู้มีเชื้อสายไทย ที่นครใหญ่ของสหรัฐฯแห่งนี้ จัดการชุมนุมร่วมต่อต้านการใช้ความรุนเเรงต่อผู้ประท้วงในประเทศไทย
ณ สวนสาธารณะ Boston Common ใจกลางเมือง ผู้มีเชื้อสายไทยและแนวร่วม รวมกันประมาณ 50 คน ออกมาเเสดงพลังในครั้งนี้ โดยผู้จัดส่งข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมครั้งนี้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และผู้เข้าร่วมซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นหนุ่มสาวถือป้ายแสดงทัศนะต่อสถานการณ์ในประเทศไทย
วีระไกร จินังกุล หนึ่งในผู้เข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้กล่าวว่าเขาต้องการออกมาสื่อสารให้สังคมโดยรวมทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย “ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน และเห็นว่าสังคมนั้นมัน injustice ไม่มี freedom of speech ก็รู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้โลกรู้ว่ามันมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นในสังคมอีกด้านหนึ่งของโลก”
การชุมนุมครั้งนี้ เริ่มต้นด้วยการที่มีตัวแทนสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา และเน้นย้ำถึงการที่เจ้าหน้าที่ปราบปรามผู้ประท้วงที่กรุงเทพฯ เมื่อวันศุกร์ด้วยการใช้น้ำเเรงดันสูงฉีดใส่ฝูงชน
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยแถลงถึงความจำเป็นที่จะต้องรักษาความสงบเรียบร้อย ตามที่ได้ออกกฎภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินก่อนหน้านั้น แม้พล.อ.ประยุทธ์ เปิดรับการเสนอให้มีการประชุมสภาฯ วิสามัญ แต่เขาปฏิเสธที่จะลาออกตามคำเรียกร้องของผู้ประท้วง ขณะที่สื่อของรัฐ ย้ำถึงงานที่นายกฯทำได้ตามเป้าหมายเรื่องการต่อสู้กับโควิด-19 และการที่พล.อ.ประยุทธ์จัดตั้งรัฐบาลและเป็นนายกฯ ได้หลังการเลือกตั้ง
ก่อนหน้าที่จะผู้จัดจะเลือกสวนสาธารณะแห่งนี้เป็นที่รวมพลวันนี้ มีการพิจารณาถึง จตุรัสภูมิพลฯ หรือ Bhumibol Square ซึ่งอยู่ในเขตเคมบริดจ์ ที่ติดกับบอสตัน และเป็นจตุรัสที่ทางการท้องถิ่นอนุมัติให้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เนื่องจากบริเวณดังกล่าวใกล้กับโรงพยาบาลที่พระองค์เสด็จพระราชสมภพ
อย่างไรก็ตามหลังจากที่ตัวแทนชุมชนไทยที่จัดการชุมนุมหารือกัน พวกเขาเห็นว่ายังไม่เหมาะสมในเวลานี้ ทั้งเรื่องสถานที่และความละเอียดอ่อนต่อความรู้สึก จึงเห็นว่าควรมาจัดในสถานที่ที่กว้างขวางกว่าที่สวนสาธารณะ ในช่วงที่รัฐแมสซาชูเสทส์ยังคงระวังเรื่องการระบาดของโคโรนาไวรัสอยู่
ในเรื่องนี้ คุณปอปลา ภัทรภร หนึ่งในผู้ร่วมจัดกิจกรรม กล่าวว่า จตุรัสภูมิพล “เป็นจุดรวมใจของคนไทยในอเมริกา แต่ด้วยความที่ตอนนี้คนไทยเองก็ยังขัดเเย้งด้วยกันเอง” เธออยากให้ในที่สุด “อย่างน้อยเรามารับฟังกันโดยที่ไม่ปะทะและสามารถยืนอยู่ตรงสแควร์นั้นได้”
ทั้งนี้ผู้ที่ร่วมชุมนุมที่บอสตันในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของคนเชื้อสายไทยในสหรัฐฯ ตามเมืองใหญ่เช่น ลอสเเองเจลิส ซานฟรานซิสโก ชิคาโก และนิวยอร์ก ที่ร่วมกันต่อต้านการใช้ความรุนเเรงต่อประชาชนที่ออกมาประท้วงในประเทศไทย
ท้ายสุดวีระไกร จินังกุลและเพื่อนๆ กล่าวว่าพวกเขาคงไม่คิดจะกลับไปอยู่ประเทศอย่างถาวรในเวลานี้ “แต่ถ้าวันนึงสังคมนั้นมันเห็นค่าของคนเท่ากัน....ก็อาจจะพิจารณากลับไปได้ครับ”