ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตรวจหาวัณโรคแนวใหม่ด้วยการตรวจเลือดอย่างง่ายๆ


ทีมนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ คิดค้นวิธีตรวจเลือดผู้ติดเชื้อวัณโรควิธีใหม่ที่สามารถระบุการติดเชื้อวัณโรคแบบแสดงอาการหรือวัณโรคระยะแฝง

please wait

No media source currently available

0:00 0:03:55 0:00
Direct link

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ามีคนติดเชื้อวัณโรครายใหม่ปีละ 9.6 ล้านคนทั่วโลก และอย่างน้อย 1.5 ล้านคนเสียชีวิต ส่วนคนที่เหลือจะมีเชื้อวัณโรคระยะแฝงที่ไม่ปรากฏอาการและไม่สามารถแพร่เชื้อได้

แต่มีความเป็นไปได้ตลอดเวลาที่จะเชื้อวัณโรคในร่างกายจะเริ่มทำงาน ทำให้ป่วยและเเพร่เชื้อสู่ผู้อื่นๆ ได้

ผู้เชี่ยวชาญประมาณว่าราว 1 ใน 3 ของประชากรโลกติดเชื้อวัณโรค แต่การติดเชื้อวัณโรคชนิดแสดงอาการก็ตรวจวินิจฉัยได้ยาก คุณ Purvesh Khatri นักภูมิต้านทานวิทยาที่เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการติดเชื้อวัณโรค กล่าวว่า วิธีตรวจวินิจฉัยวัณโรคที่ใช้ในปัจจุบัน ต้องใช้ตัวอย่างเสมหะจากทางเดินหายใจ ซึ่งมีข้อจำกัดหลายอย่าง ถึงเเม้ว่าจะเป็นวิธีการตรวจที่แม่นยำสูงเพราะการตรวจหาเชื้อวัณโรคที่อยู่ในเสมหะโดยตรง เขากล่าวว่าวิธีการตรวจวิธีนี้ทำได้ยากในคนบางกลุ่ม

คุณ Khatri นักวิจัยกล่าวว่า เนื่องจากวิธีนี้ต้องใช้ตัวอย่างเสมหะจากระบบทางเดินหายใจ แต่การดูดเอาเสมหะทางเดินหายใจของเด็กทำได้ยากมาก นอกเหนือจากนี้ วิธีการตรวจหาวัณโรคแบบดั้งเดิมนี้ ยังไม่สามารถช่วยแยกได้ว่าผู้ติดเชื้อคนใดติดเชื้อแบบแพร่เชื้อหรือใครเคยติดเชื้อวัณโรคและหายจากโรคแล้ว หรือใครได้รับวัคซีน BCG แล้ว

นอกจากนี้ วิธีการตรวจแบบเดิมยังไม่สามารถตรวจหาเชื้อวัณโรคในคนที่ติดเชื้อเอชไอวีที่ก่อให้เกิดโรคเอดส์ได้

ในปีค.ศ. 2014 องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้ท้าทายให้นักวิทยาศาสตร์พัฒนาวิธีการตรวจเลือดหาเชื้อวัณโรควิธีใหม่ ที่ช่วยให้การวินิจฉัยง่ายขึ้น และแยกได้ว่าใครติดเชื้อแบบแพร่เชื้อและใครติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง

คุณ Purvesh Khatri และทีมงานที่มหาวิทยาลัย Stanford ในแคลิฟอร์เนีย ได้พัฒนาวิธีการตรวจเลือดหาวัณโรคที่มีความแม่นยำสูงขึ้น ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ในประเทศต่างๆ ที่ขาดแคลนที่พบการติดเชื้อวัณโรครายใหม่มากที่สุด

นักวิจัยชี้ว่า เมื่อคนเราติดเชื้อวัณโรคแบบแพร่เชื้อเข้าสู่ร่างกาย เชื้อวัณโรคก่อให้เกิดปฏิกิริยาแบบห่วงโซ่ในยีนหลายร้อยตัว วิธีการตรวจเลือดที่คุณ Khatri เเละทีมงานพัฒนาขึ้นมานี้สามารถระบุยีนที่เเสดงปฏิกริยาต่อเชื้อวัณโรคได้สามตัวด้วยกัน

ในการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารเดอะลานเซ็ท ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดทีมนี้รายงานถึงผลของการตรวจตัวอย่างเลือดทั้งหมด 1,400 ตัวอย่าง วิธีการตรวจนี้วินิจัยได้อย่างถูกต้องว่า 86 เปอร์เซ็นต์ของตัวอย่างเลือดจากเด็กทั้งหมดเป็นการติดเชื้อวัณโรคแบบแพร่เชื้อ และการตรวจนี้ยังมีความถูกต้องถึง 99 เปอร์เซ็นต์ในการวินิจฉัยกรณีที่เป็นการติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง

คุณ Khatri นักวิจัยกล่าวว่า การตรวจเลือดหาวัณโรควิธีนี้อาจนำไปใช้เพื่อจุดประสงค์อื่นได้ด้วย เขากล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า มีความเป็นไปได้ที่จะนำการตรวจเลือดหาวัณโรควิธีใหม่นี้ไปใช้ในการวิเคราะห์ดูว่าผู้ป่วยตอบสนองต่อการบำบัดวัณโรคหรือไม่

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG