ทีมนักวิจัยชาวอังกฤษกับชาวเปรูค้นพบว่าเชื้อวัณโรคที่ดื้อยาหลายสายพันธุ์แพร่สู่ผู้อื่นที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยได้ยากกว่าที่คิดกันและแพร่ต่อผู้อื่นยากกว่าเชื้อวัณโรคสายพันธุ์ที่รักษาหายด้วยยาปฏิชีวนะ
คุณ Louis Grandjean ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเขตร้อนแห่งมหาวิทยาลัย Imperial College ในกรุงลอนดอนเป็นหัวหน้าทีมนักวิจัยที่ทำการศึกษาเรื่องนี้ในประเทศเปรู เขากล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าหลังจากเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดวัณโรคปรับตัวดื้อต่อยาปฏิชีวนะ มันสามารถอยู่รอดได้ในร่างกายผู้ป่วยแต่จะลดความแข็งแกร่งลงจึงแพร่ระบาดสู่คนที่อยู่่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยได้ยากขึ้น
ทีมนักวิจัยใช้เวลานาน 3 ปีในการติดตามสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานหรือ MDR-TB จำนวนหนึ่งพันกว่าคนและติดตามผู้ที่อาศัยใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรคชนิดที่รักษาหายด้วยยาปฏิชีวนะธรรมดาอีก 2,300 กว่าคนในกรุงลิมา เมืองหลวงของเปรู
ทีมนักวิจัยพบว่ามีคนที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา 35 คนติดเชื้อวัณโรคชนิดดื้อยา ส่วนผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคชนิดไม่ดื้อยา ติดเชื้อวัณโรคถึง 114 คน
ทีมนักวิจัยชี้ว่ากลุ่มคนในการศึกษาที่เป็นญาติกับผู้ป่วยวัณโรคดื้อยามีโอกาสติดเชื้อวัณโรคนี้ต่ำกว่ากลุ่มคนที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรคชนิดไม่ดื้อยาถึง 44 เปอร์เซ็นต์
แต่คุณ Grandjean เตือนว่านี่ไม่ได้หมายความว่าวัณโรคดื้อยาหลายขนานไม่น่ากังวล เขากล่าวว่าวัณโรคดื้อยาหลายขนานยังเป็นปัญหาใหญ่อยู่แม้ผลการศึกษานี้จะชี้ว่าติดกันยากกว่าวัณโรคธรรมดาก็ตาม แต่เขาชี้ว่าข้อมูลนี้ช่วยลดความกังวลลง เขาย้ำว่าการเฝ้าระวังและการบำบัดวัณโรคต้องเดินหน้าต่อไปอย่างไม่ย่อท้อเพื่อควบคุมวัณโรคชนิดดื้อต่อยาหลายขนาน
เมื่อสองปีที่แล้ว องค์การอนามัยโลกพบว่ามีคนติดเชื้อวัณโรคชนิดดื้อยาถึงเกือบครึ่งล้านคน วัณโรคชนิดดื้อยามักพบในผู้ป่วยที่เคยรับการบำบัดด้วยยาปฏิชีวนะสองชนิดที่ราคาไม่แพงและมีขายทั่วไปแต่ผู้ป่วยรับประทานยาไม่ครบตามกำหนดทำให้เชื้อวัณโรคปรับตัวดื้อต่อยา นอกจากนี้ยังพบวัณโรคดื้อยาในผู้ติดเชื้อเอชไอวีด้วย
บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าระยะเวลาการบำบัดวัณโรคดื้อต่อยาหลายขนานอาจนานเกือบ 2 ปีและต้องใช้ยาบำบัดร่วมกันหลายชนิด อัตราการเสียชีวิตก็สูงกว่าเพราะความเป็นพิษของยาเพิ่มขึ้น