ลิ้งค์เชื่อมต่อ

หน่วยงานการแพทย์ระดับโลกหลายแห่งร่วมมือกันบำบัดผู้ป่วยวัณโรคดื้อยากว่า 2,600 คนใน 16 ประเทศทั่วโลก


พบผู้ป่วยวัณโรคชนิดดื้อยารุนแรงมากหลายรายในสลัมที่เคนยาที่ต้องรักษาตัวนานถึงสองปีด้วยยาบำบัดวัณโรคชนิดใหม่ที่นำเข้าจากต่างประเทศ

please wait

No media source currently available

0:00 0:04:02 0:00
Direct link

ในสลัม Mathare ที่กรุง Nairobi แออัดยัดเยียด มีผู้คนอาศัยอยู่กว่าล้านคน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชี้ว่าสลัมแห่งนี้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของวัณโรค

นาง Elizabeth Wangechi อายุ 31 ปีอาศัยในสลัมแห่งนี้ เธอเริ่มล้มป่วยในตอนต้นปีค.ศ. 2013 เริ่มมีอาการไอ ปวดหน้าอกและเหงื่อออกในตอนกลางคืน เธอคิดตนเองป่วยด้วยไข้หวัดทั่วไปและน่าจะหายเองภายในหนึ่งสัปดาห์

แต่หลังจากป่วยอยู่นานถึง 2 เดือน อาการยังไม่ดีขึ้น เธอตัดสินใจไปพบแพทย์ที่คลีนิคใกล้บ้าน นาง Wangechi กล่าวว่าผลการตรวจร่างกายชี้ว่าตนเองติดเชื้อวัณโรค เธอกล่าวว่าที่คลีนิคของรัฐบาล ตนเองได้รับยาบำบัดวัณโรคนาน 4-5 เดือน แต่ยาบำบัดไม่ได้ผลและอาการป่วยย่ำแย่ลง

ยาบำบัดวัณโรคที่นาง Wangechi คุณแม่ลูกสองใช้ไม่ได้ผลและสี่เดือนต่อมาแพทย์วินิจฉัยว่าเธอป่วยด้วยวัณโรคชนิดที่ดื้อยารุนแรงอย่างมากหรือ XDR-TB

เชื้อวัณโรคชนิดดื้อยารุนแรงอย่างมากหรือ XDR-TB เป็นวัณโรคชนิดที่ดื้อต่อยาที่ใช้บำบัดหลายขนานด้วยกันและเป็นประเภทที่พบไม่บ่อย วัณโรคชนิดนี้ดื้อต่อยารักษาวัณโรคที่ใช้กันทั่วไป

นาง Wangechi กล่าวว่ายาบางชนิดที่เธอได้รับตามคำสั่งแพทย์ไม่มีขายในประเทศ
เธอบอกว่าตนเองได้รับการบำบัดด้วยยารักษาวัณโรคดื้อยารุนแรงมานาน 10 เดือนแล้ว แต่ก่อนกว่าจะได้เริ่มการบำบัดด้วยยา

ในแถลงการณ์ หน่วยงาน International Organisations Partner in Health (PIH) ประมาณว่ามีผู้ป่วยวัณโรคอย่างน้อยห้าแสนคนต่อปีที่เริ่มมีอาการดื้อยาและประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยเหล่านี้ป่วยด้วยวัณโรคดื้อยารุนแรง

นาย Hussein Kerrow ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อแห่งหน่วยงานแพทย์การกุศล Doctors Without Borders (MSF) กล่าวว่าหลังจากการรักษาที่ไม่ได้ผลนานหลายเดือน นาง Elizabeth Wangechi เริ่มตอบสนองต่อยาบำบัดวัณโรคขนานใหม่ที่ได้รับ

เขากล่าวว่าต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าทีมงานจะได้รับยาบำบัดตัวใหม่เพื่อใช้รักษานาง Wangechi เป็นหนึ่งในยาชนิดใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ทีมงานพอใจมากที่คนไข้ตอบสนองต่อยาคอคเทลตัวใหม่ที่ได้รับ และว่านาง Wangechi น่าจะติดเชื้อวัณโรคชนิดดื้อยารุนแรงอย่างมากนี้จากผู้ป่วยที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นวัณโรคชนิดนี้

นาย Kerrow ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อแห่งหน่วยงานแพทย์การกุศล Doctors Without Borders กล่าวว่าวัณโรคติดต่อผ่านทางลมหายใจ หากอาศัยในพื้นที่แออัดที่ได้รับแสงอาทิตย์น้อยหรืออาศัยกับผู้ป่วยวัณโรคที่ไม่ได้รับการตรวจรักษาก็จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อวัณโรคจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้ง่ายขึ้น

บรรดาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกล่าวว่าในขณะนี้ ยาบำบัดวัณโรคชนิดใหม่หลายๆตัวต้องใช้ร่วมกันในการบำบัดที่ยาวนานถึง 2 ปี และมีผลข้างเคียงของยาสูง นอกจากนี้ยายังมีประสิทธิภาพในการบำบัดวัณโรคดื้อยาหลายขนานหรือ MDR-TB เพียง 50 เปอร์เซ็นต์และวัณโรคชนิดดื้อยารุนแรงอย่างมากเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

นาง Wangechi ยังเหลือเวลาอีกราว 14 เดือนกว่าจะเสร็จสิ้นการบำบัด ส่วนลูกชายอายุ 3 ขวบต้องบำบัดนาน 5 เดือน นาง Wangechi หวังว่าหลังบำบัดครบตามกำหนด เธอจะสามารถกลับไปทำงานด้านการสอนหนังสือได้อีกหรืออาจจะหางานใหม่ที่ดีกว่าเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว

XS
SM
MD
LG