ในวันอังคาร กลุ่มตาลิบันเฉลิมฉลองการจากไปของกองกำลังสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร หลังจากเครื่องบินลำสุดท้ายของกองทัพสหรัฐฯ เดินทางออกจากสนามบินกรุงคาบูลเมื่อเวลา 11.59 น. ของคืนวันจันทร์ตามเวลาในกรุงคาบูล หนึ่งนาทีก่อนกำหนดเส้นตายที่เวลาเที่ยงคืนตรงของวันที่ 31 สิงหาคม
ถือว่าภารกิจทางทหารของกองทัพสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานตลอด 20 ปีที่ผ่านมา สิ้นสุดลงแล้วอย่างเป็นทางการ
โฆษกของตาลิบัน ซาบิอุลลาห์ มูจาฮิด กล่าวต่อผู้สื่อข่าวที่กรุงคาบูล แสดงความยินดีต่ออัฟกานิสถานในวันที่ไร้ทหารต่างชาติ และว่า การถอนกำลังของกองทัพสหรัฐฯ ถือเป็น "ชัยชนะของชาวอัฟกันทุกคน"
โฆษกของตาลิบัน กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานถือเป็น "บทเรียนสำหรับประเทศอื่นที่จะเข้ามารุกราน" ในขณะเดียวกันก็ยืนยันว่า ตาลิบันต้องการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับอเมริกาและประชาคมโลก พร้อมขอให้บรรดานักรบตาลิบันปฏิบัติต่อประชาชนชาวอัฟกันอย่างดีและมีเมตตา และพึงระลึกไว้เสมอว่าตาลิบันคือ "ข้ารับใช้" ของประชาชน
กลุ่มตาลิบันให้สัญญาว่าจะเปิดใช้สนามบินฮามิด คาร์ไซ สำหรับเที่ยวบินพาณิชย์อีกครั้งให้เร็วที่สุด แม้ว่าโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของสนามบินต่างได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุการณ์โจมตีและความวุ่นวายในช่วงหลายวันที่ผ่านมา
ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรได้อพยพพลเมืองของตนและชาวอัฟกันที่เคยทำงานให้กับสหรัฐฯ และชาติตะวันตก ออกจากกรุงคาบูลราว 123,000 คน แต่ยังคงมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือให้เดินทางออกจากอัฟกานิสถาน
ก่อนหน้านี้ กลุ่มตาลิบันรับปากว่าจะปกครองอัฟกานิสถานโดยใช้นโยบายประนีประนอมมากกว่าครั้งก่อนในช่วงที่ปกครองประเทศระหว่างปี ค.ศ. 1996 - 2001 และจะจัดตั้งรัฐบาลอิสลามที่เป็นตัวแทนของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ
โฆษกของตาลิบัน มูจาฮิด ยังได้เรียกร้องให้ประชาคมโลกยอมรับในกลุ่มตาลิบันและช่วยพวกเขาในการแก้วิกฤติต่าง ๆ ที่อัฟกานิสถานกำลังเผชิญอยู่
อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ ว่าด้วยสันติภาพในอัฟกานิสถาน ซาลเมย์ คาลิลซาด ระบุว่า "กลุ่มตาลิบันกำลังเผชิญกับบททดสอบครั้งสำคัญว่าจะสามารถนำพาอัฟกานิสถานไปสู่ความปลอดภัยและความรุ่งเรืองในอนาคตภายใต้ความเท่าเทียมของพลเมืองทุกคนไม่ว่าชายหรือหญิงได้หรือไม่ และอัฟกานิสถานจะแสดงพลังและความสวยงามของขนบประเพณีที่หลากหลาย รวมทั้งประวัติศาสตร์ที่ยาวนานออกมาให้ทั่วโลกเห็นได้อย่างไร"
ผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ กล่าวด้วยว่า การถอนกำลังของทหารต่างชาติคือช่วงเวลาสำคัญและถือเป็นการสร้างโอกาสอันดีสำหรับชาวอัฟกันทุกคน อนาคตของประเทศจะอยู่ในมือของพวกเขา และเป็นโอกาสที่จะยุติสงครามอันยาวนาน
ทางด้านรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ไฮโก มาส กล่าวในวันอังคารที่ปากีสถานว่า การที่กลุ่มตาลิบันจะได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการปกครองที่ตาลิบันจะนำมาใช้ และหน้าตาของคณะรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะเป็นตัวแทนของกลุ่มต่าง ๆ ในอัฟกานิสถานตามที่ตาลิบันประกาศไว้หรือไม่
รัฐมนตรีมาส กล่าวด้วยว่า บทเรียนสำคัญจากความล้มเหลวในอัฟกานิสถาน คือ การแทรกแซงทางทหารของชาติตะวันตกนั้นควรใช้ในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย สงครามและการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ไม่ควรเป็นการชักนำรูปแบบการปกครองใด ๆ ก็ตามไปใช้กับประเทศอื่น