ลิ้งค์เชื่อมต่อ

มรสุมเศรษฐกิจอัฟกานิสถาน - เงินช่วยเหลือต่างประเทศและเงินส่งกลับเหือดหาย ส่วนรายได้รัฐจากภาษีแทบไม่มี


AFGHANISTAN-CONFLICT-ECONOMY-WOMEN-WIDOWS
AFGHANISTAN-CONFLICT-ECONOMY-WOMEN-WIDOWS

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้นักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญหลายคนแสดงความแปลกใจที่ผู้นำกลุ่มตาลิบันประกาศตั้งนายโมฮัมหมัด ไอดริส เป็นผู้ว่าการธนาคารชาติหรือธนาคาร Da Afghanistan Bank คนใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครเคยได้ยินชื่อนายโมฮัมหมัด ไอดริสผู้นี้มาก่อนเลย

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนให้ความเห็นด้วยว่า ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าทั้งนายไอดริสหรือผู้นำกลุ่มตาลิบันคนใดมีความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ และนายอัจมาล อามาดิ อดีตผู้ว่าการธนาคารชาติของอัฟกานิสถานซึ่งหลบหนีออกจากประเทศก่อนที่กลุ่มตาลิบันจะเข้ายึดกรุงกาบูลก็ได้บอกกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่าขณะนี้กลุ่มตาลิบันยังไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามีนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจนเพื่อรับมือกับวิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศ และว่าไม่เคยมีใครทราบมาก่อนว่ามีนักเศรษฐศาสตร์หรือผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจอยู่ในกลุ่มที่ว่านี้ด้วย

ทางด้านนายกัล มัคซูด ซาบิท อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของอัฟกานิสถานซึ่งขณะนี้เป็นอาจารย์อยู่ที่ Ohlone College ในรัฐแคลิฟอร์เนียบอกกับวีโอเอว่าปัญหาเรื่องเศรษฐกิจของประเทศจะยิ่งเลวร้ายลงหากกลุ่มตาลิบันแต่งตั้งผู้ที่ไม่มีความรู้ความชำนาญหรือเข้าใจเศรษฐกิจอย่างแท้จริงเข้าบริหาร เพราะอัฟกานิสถานกำลังมีปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจหลายด้านที่ส่งผลกระทบซึ่งกันและกันและอาจจะยิ่งเลวร้ายลงได้

ประการแรกก็คืออัฟกานิสถานต้องพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนถึง 75% สำหรับงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลและล่าสุด IMF ก็ได้ประกาศระงับการส่งเงินช่วยเหลืองวดล่าสุด 440 ล้านดอลลาร์ให้กับกลุ่มตาลิบันด้วย

ประการที่สอง ชาวอัฟกานิสถานที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศส่งเงินกลับบ้านถึงปีละเกือบ 800 ล้านดอลลาร์แต่ขณะนี้เงินดังกล่าวก็ต้องหยุดชะงักลงเพราะบริษัทผู้ให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศอย่างเช่น Western Union และ MoneyGram International ได้ระงับการให้บริการในอัฟกานิสถาน

และท้ายสุด รัฐบาลของบางประเทศรวมทั้งหน่วยงานเอ็นจีโอที่ทำงานอยู่ในอัฟกานิสถานหลายแห่งได้ถอนตัวออกมาส่งผลถึงการจ้างงานชาวอัฟกานิสถานในประเทศหลายพันคนและเรื่องนี้ก็มีผลต่อกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วย นอกจากนั้นถึงแม้ว่าธนาคารหลายแห่งในอัฟกานิสถานจะเริ่มกลับมาเปิดให้บริการบ้างแล้วก็ตามแต่ผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ซึ่งไม่แน่ใจในเงินตราสกุล afghanis ได้แลกเงินดังกล่าวให้เป็นเงินสกุลดอลลาร์แทนเพราะไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับเสถียรภาพของค่าเงินตราของตนซึ่งก็ส่งผลให้ค่าเงินของอัฟกานิสถานยิ่งตกต่ำลงและทำให้ราคาสินค้าข้าวของโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศแพงขึ้นด้วย

ที่กล่าวมานี้ล้วนแต่เป็นปัญหาด้านการเงิน แต่ในด้านการคลังนั้นรายได้ส่วนใหญ่ของรัฐบาลอัฟกานิสถานโดยเฉพาะสำหรับกลุ่มตาลิบันจะมาจากการเก็บภาษีและอากรสินค้าขาเข้าซึ่งเมื่อเศรษฐกิจซบเซาและการนำเข้าลดลงก็เชื่อได้ว่ารายได้จากด้านนี้ส่วนใหญ่จะหายไปด้วยอย่างแน่นอน ทั้งนี้ตามความเชื่อของนายกัล มัคซูด ซาบิท อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังของอัฟกานิสถาน

ถึงกระนั้นก็ตามท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่เชื่อว่าอัฟกานิสถานจะต้องเผชิญนั้นก็มีทีท่าว่ากลุ่มตาลิบันกำลังพยายามเจรจาทำข้อตกลงแบ่งปันอำนาจเพื่อตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้น ซึ่งเรื่องนี้หากเป็นผลสำเร็จก็อาจช่วยให้รัฐบาลของบางประเทศยอมรับฐานะรัฐบาลใหม่ของอัฟกานิสถานและทำให้ความช่วยเหลือจากต่างประเทศเริ่มกลับมาได้ หรือทำให้บริษัทผู้ให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งได้เช่นกัน

และจากสถานการณ์แวดล้อมทางเศรษฐกิจที่อัฟกานิสถานกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ อาจารย์แดริล แมคเลียด ผู้สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Fordham บอกว่าปัญหาวิกฤติและเดิมพันทางเศรษฐกิจของอัฟกานิสถานขณะนี้แม้จะเป็นข่าวร้ายแต่ก็อาจจะเป็นแรงกดดันที่ช่วยกระตุ้นให้กลุ่มตาลิบันยอมร่วมมือหรือผ่อนปรนท่าทีต่างๆ ลงเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมระหว่างประเทศ

แต่เขาก็เสริมว่าไม่ว่าปัญหาความกดดันจากต่างประเทศหรือวิกฤตเศรษฐกิจจะร้ายแรงเพียงใด ท้ายที่สุดแล้วผู้ที่ต้องรับปัญหาอย่างแท้จริงนั้นก็คือประชาชนชาวอัฟกานิสถานนั่นเอง


ที่มา: VOA

XS
SM
MD
LG