เมื่อไม่นานมานี้ ในงานชิมอาหารแห่งอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่พอมพิดูเซ็นเตอร์ ในกรุงปารีส ผู้เข้าร่วมงานได้ลิ้มลอง สเปลท์ริโซโต (spelt risotta) ที่ทำจากข้าวสาลีสเปลท์ เป็นอาหารกลางวัน
สเปลท์ เป็นข้าวสาลีชนิดหนึ่งที่เก่าแก่กว่าวีท มีรสชาติเหมือนถั่ว อุดมด้วยใยอาหารเเละเเร่ธาตุ โดยบรรดานักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าข้าวสาลีชนิดนี้เป็นหนึ่งในอาหารที่คนเราควรเริ่มรับประทานเพื่อสุขภาพของตัวเองเเละโลก
เดวิด เอ็ดเวิร์ดส ผู้อำนวยการยุทธศาสตร์ด้านอาหารแห่งกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) กล่าวว่า ร้อยละ 75 ของอาหารที่คนเรารับประทานมาจากพืชอาหาร 12 ชนิดเเละสัตว์ 5 ชนิดและร้อยละ 60 ของพลังงานที่ได้รับมาจากผัก 3 อย่าง
กองทุนสัตว์ป่าโลกได้มีส่วนในการจัดทำรายงาน "Future 50 Foods" ร่วมกับบริษัทนัวร์ (Knorr) บริษัทผลิตอาหารยักษ์ใหญ่ของเยอรมนี จุดประสงค์คือต้องการกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงนิสัยการกินของคนในปัจจุบันที่พึ่งอาหารและเนื้อสัตว์ที่ปลูกและเลี้ยงในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมบนโลกและสุขภาพของคน
เขากล่าวว่า ประชากรสัตว์ป่าได้ลดลงร้อยละ 60 ตั้งเเต่ยุค 1970 หรือ ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา เเละประชากรแมลงก็ลดลงอย่างน่าเป็นห่วง อาหารที่คนเรารับประทานมีผลให้สัตว์ป่าลดลงอย่างมาก
เมนูอาหารกลางวันที่เสริฟในกรุงปารีส มีอาหารที่อยู่ในรายชื่ออาหารแห่งอนาคตหลายอย่างด้วยกัน โดยใช้ผักเป็นหลัก ตัดเนื้อสัตว์ออกไป ใช้ถั่ว walnuts ผักกินราก เเป้งจากถั่วเลนทิล หัวมันเทศและนมจากถั่วเหลือง
กุ๊กชาวเซเนกัล Pierre Thiam ได้นำข้าวโฟนิโอ (fonio) ธัญพืชประเภทข้าวที่ทนทานต่อความแห้งแล้งและปลูกในแอฟริกา มาปรุงให้ผู้เข้าชมงานได้ลองรับประทาน เขานำเข้าข้าวชนิดนี้เพื่อปรุงเป็นอาหารเสริฟแก่ลูกค้าที่ร้านอาหารของเขาในมหานครนิวยอร์ค โดยสั่งเข้าจากเกษตรกรรายย่อยในแอฟริกา
ด้านอดีตกุ๊กของทำเนียบขาว Sam Kass ที่เป็นผู้ดำเนินนโยบายการต่อต้านปัญหาความอ้วนในเด็กของอดีตสตรีหมายเลขหนึ่ง นาง Michelle Obama มาตอนนี้ เขากำลังทำงานเพื่อปกป้องสิ่งเเวดล้อม
เขากล่าวว่า เมื่อเราพูดถึงการปรับเปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือเเบบนี้ คนมักจะไม่คิดว่าเป็นไปได้เเละไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร เขาเเนะนำว่าให้เลือกอาหารเพื่ออนาคต 2 - 3 อย่าง เเล้วลองรับประทานอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี
นักวิจัยทุน Laura Wellesley เเห่ง Chatham House สถาบันคลังสมองในอังกฤษ กล่าวว่า รัฐบาลต่างๆ ในยุโรปจำเป็นต้องมีมาตรการออกมารองรับการปรับเปลี่ยนอาหารที่คนรับประทานไปเป็นเนื้อที่ทำจากพืช หรือ เรียกได้ว่า เนื้อที่ปลูกในห้องทดลอง
เธอกล่าวว่า อียูได้ลงทุนอย่างมากในเรื่องนี้ เเต่ยังน่าจะทำได้มากกว่านี้ อียูสามารถลงทุนมากกว่านี้ในงานด้านการวิจัยเเละการพัฒนาวัฒนธรรมการกินอาหารที่เป็นมิตรต่อโลกเเละเนื้อที่มาจากผัก ซึ่งมีความยั่งยืนอย่างเเท้จริงเเละเป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพคนเเละโลก เธอกล่าวว่า อียูยังสามารถสนับสนุนการค้าอาหารเป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อมที่พัฒนาขึ้นด้วย
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทย กรุงวอชิงตัน)