เวลานี้กำลังเกิดการเคลื่อนไหวทั่วยุโรปเพื่อผลักดันให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ออกนโยบายที่มีเป้าหมายปกป้องสิ่งแวดล้อม ภายใต้กระแสที่เรียกว่า ‘ปฏิวัติเขียว’
หลายประเทศในยุโรป รวมทั้ง ฝรั่งเศส สวีเดน เบลเยียม และสวิตเซอร์แลนด์ นักศึกษาและคนทำงานจำนวนมากต่างพากันหยุดเรียน หยุดทำงาน เพื่อเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก
นีล มาการอฟ ที่ปรึกษาด้านนโยบายของเครือข่ายเอ็นจีโอเพื่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมของฝรั่งเศส กล่าวว่า กำลังเกิดการลุกฮือของประชาชนในหลายประเทศของยุโรป ไม่ว่าจะในรูปของการเดินขบวน การยืนคำร้อง หรือการใช้กระบวนการยุติธรรม เพื่อเรียกร้องให้เกิดการปกป้องสิ่งแวดล้อมในประเทศของพวกเขา
มีการเดินขบวนในยุโรปหลายประเทศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่การเดินขบวนของกลุ่มนักศึกษาในกรุงบรัสเซลล์ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่สหภาพยุโรป ไปจนถึงการยึดครองอาคารรัฐสภาของสก็อตแลนด์ชั่วคราว เช่นเดียวกับการเดินขบวนตามหมู่บ้านและเมืองใหญ่หลายแห่งในฝรั่งเศส โดยมีผู้เข้าร่วมรวมหลายแสนคน
ขณะเดียวกัน แมรี ทูส์ซองท์ นักรณรงค์ชาวฝรั่งเศส เพิ่งยื่นคำร้องเรื่องการปกป้องสิ่งแวดล้อมให้กับรัฐบาลฝรั่งเศส ซึ่งมีผู้สนับสนุนอย่างล้นหลามราวสองล้านคน
ส่วนที่เนเธอร์แลนด์ ศาลสูงเนเธอร์แลนด์เพิ่งมีคำตัดสินให้รัฐบาลประกาศนโยบายลดมลพิษในอากาศ ถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของประชาชนที่ร่วมลงนามเรียกร้องเรื่องนี้
และที่เยอรมนี พรรคกรีน ก็กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงจนกระโดดขึ้นมาอยู่ที่สองในผลการสำรวจความเห็นประชาชนที่มีต่อพรรคการเมืองต่างๆ
นักวิเคราะห์ระบุว่า สำหรับคนทั่วไป ยุโรปอาจไม่ใช่ภูมิภาคที่จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติเพื่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากทราบกันดีว่ายุโรปเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการวางนโยบายเพื่อลดผลกระทบจากมลพิษต่างๆ
ตัวอย่างเช่นเมื่อไม่นานนี้ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาคร็อง เพิ่งประกาศคำขวัญ “Make the Planet Great Again” หรือ “ทำให้โลกกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง” พร้อมกับเปิดตัวโครงการ “One Planet Summit” โดยมีเป้าหมายระดมความคิดเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม นักรณรงค์จำนวนมากยังมองว่า ทั้งฝรั่งเศสและสหภาพยุโรป ต่างมีคำพูดที่สวยหรู และโครงการที่ดูดี แต่กลับไม่มีการลงมือปฏิบัติอย่างเป็นจริงเป็นจัง และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้เกิดการเดินขบวนของกลุ่มประชาชนรากหญ้าในหลายประเทศของยุโรป ในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า การเลือกตั้งสภายุโรปที่จะมีขึ้นเร็วๆ นี้ อาจเป็นบททดสอบสำคัญว่าการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศนั้น จะแปรเปลี่ยนเป็นพลังทางการเมืองได้หรือไม่
(ผู้สื่อข่าว Elizabeth Bryant รายงานจากกรุงปารีส / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)