เมื่อปีที่เล้ว ตอนที่ลูกสาววัย 3 เดือนของ Purva Bhatia ป่วยด้วยโรคปอดบวม แพทย์บอกว่ามลพิษอากาศในกรุงนิวเดลลีที่เลวร้ายเป็นสาเหตุ เธอไม่เคยคิดที่จะต้องย้ายออกจากกรุงนิวเดลลีไปอยู่ที่อื่น เพราะเธอเเละสามีเติบโตที่นี่ เเต่เธอเป็นห่วงสุขภาพของลูกสาวเเละมองว่าการย้ายไปอยู่เมืองอื่นเป็นทางออกที่ดีที่สุด
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มลพิษทางอากาศในเมืองหลวงของอินเดียที่เกิดจากควันเสียของรถยนต์ ฝุ่นจากการก่อสร้างเเละควันเสียจากโรงงาน ได้ขึ้นไปอยู่ในระดับสูงจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพบ่อยครั้งมากในช่วงฤดูหนาว
แม้ว่าคุณภาพอากาศจะดีขึ้นในช่วงฤดูร้อน คุณภาพอากาศก็ยังเเย่อยู่เเละในกรุงนิวเดลลี ซึ่งขณะนี้คุณภาพอากาศจัดอยู่ในระดับที่เเย่ที่สุดในบรรดาเมืองใหญ่ต่างๆ ซึ่งจะเท่ากับการสูบบุหรี่ 20 มวนต่อวัน จนบรรดาแพทย์ได้เตือนว่าอากาศที่เป็นพิษนี้อาจเป็นต้นเหตุของโรคทางระบบทางเดินหายใจเเละโรคหัวใจ
คำเตือนที่น่ากล้วนี้ทำให้ชาวกรุงนิวเดลลีหลายคนตัดสินใจย้ายออกไปอยู่ที่อื่น บางคนย้ายไปอยู่ในเมืองต่างๆ ทางใต้ เช่น Chennai ในขณะที่หลายคนย้ายไปทางตะวันตกเช่นเมือง Goa ซึ่งเป็นเมืองชายทะเล
Aditi Malhotra นักวางแผนจัดงานเลี้ยงได้ย้ายออกจากกรุงนิวเดลลีไปอยู่เมือง Goa หนึ่งปีครึ่งที่เเล้ว หลังจากเริ่มป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจเเละตาอักเสบ เพราะอากาศเป็นพิษในกรุงนิวเดลลี
เธอบอกว่า เธอมีปัญหาสุขภาพรุมเร้าซึ่งมีต้นเหตุจากอากาศที่เป็นพิษ ทำให้ต้ดสินใจย้ายไปอยู่เมืองที่คุณภาพสะอาดกว่า
Anumita Roy Chowdhury แห่งศูนย์วิทยาศาสตร์และสิ่งเเวดล้อมของกรุงนิวเดลลี (New Delhi's Center of Science and Environment) กล่าวว่า คนเราไม่สามารถวิ่งหนีจากปัญหามลพิษทางอากาศได้ เธอเรียกปัญหามลพิษทางอากาศของอินเดียว่าเป็นวิกฤติเร่งด่วนระดับชาติ เเละชี้ว่า คุณภาพอากาศในเมืองใหญ่ส่วนมากในอินเดียถือว่าเป็นพิษ
ปัญหามลพิษในอินเดียรุนแรงมาก เพราะเกือบ 88 เปอร์เซ็นต์ของเมืองต่างๆ ทั่วประเทศที่มีการตรวจวัดระดับคุณภาพอากาศ ถือว่ามีมลพิษทางอากาศในระดับร้ายเเรงเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
นายแพทย์ Arvind Kumar แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดปอดที่มีชื่อเสียงในกรุงนิวเดลลี กล่าวว่า โรงพยาบาลส่วนมากต่างรายงานตัวเลขผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว
นายแพทย์ Kumar กล่าวว่า ผลเสียร้ายเเรงที่สุดที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อเด็กในด้านความบกพร่องทางการพัฒนาของสมองเเละปอด ซึ่งตนเองมองว่าเป็นปัญหาเร่งด่วนทางสาธารณสุขที่สำคัญกว่านโยบายด้านการพัฒนาทุกอย่าง
อย่างไรก็ตาม ในเมืองที่มีประชาชนมากกว่า 20 ล้านคน การย้ายไปอยู่ที่อื่นยังเป็นทางเลือกที่จำกัดอยู่ในกลุ่มคนชนชั้นกลางกับคนร่ำรวยเท่านั้น ส่วนคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ คนงานที่ทำงานภายนอกอาคาร อาทิ คนขายของตามร้านข้างถนน เเละคนขับรถสามล้อรับจ้าง โดยคนเหล่านี้ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องอาศัยในเมืองหลวงต่อไป
หลายคนที่ย้ายออกจากกรุงนิวเดลลี ต่างยอมรับว่าการย้ายไปอยู่ที่อื่นเป็นการตัดสินใจที่ต้องคิดหนักมาก เเต่ยืนยันว่าจะยังไม่ย้ายกลับจนกว่าวิกฤติอากาศเป็นพิษในกรุงนิวเดลลีจะดีขึ้น
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)