ประชาชนหลายร้อยคนชุมนุมประท้วงรัฐบาลศรีลังกาอย่างต่อเนื่องในวันอังคาร หลังจากการลาออกของนายกรัฐมนตรีมหินทรา ราชปักษา เมื่อวันจันทร์ ซึ่งนำไปสู่การปะทะกันของกลุ่มผู้สนับสนุนกับกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาล ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
ผู้ประท้วงชุมนุมหน้าสำนักงานของประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ในกรุงโคลัมโบ เป็นวันที่ 32 ติดต่อกัน เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีศรีลังกาลาออกตามพี่ชาย มหินทรา ราชปักษา เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมการประท้วงในกรุงโคลัมโบมีจำนวนลดลงจากหลายพันคนเหลือเพียงหลายร้อยคนในวันอังคาร หลังจากที่รัฐบาลนำมาตรการเคอร์ฟิวมาใช้เมื่อวานนี้สืบเนื่องจากการปะทะกันของกลุ่มผู้เห็นต่าง โดยจะใช้ต่อเนื่องถึงวันพุธเป็นอย่างเร็ว
เมื่อวันจันทร์ ทางการศรีลังกาแถลงว่า นายกฯ ราชปักษาได้ยื่นใบลาออกกับประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ผู้เป็นน้องชายของตนเอง หลังจากที่ผู้นำทั้งสองตกเป็นเป้าหมายของการประท้วงให้ลงจากตำแหน่ง สืบเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจรุนแรงในศรีลังกา
และในวันอังคาร ผู้ประท้วงรัฐบาลตะโกนไล่ประธานาธิบดีให้ลงจากตำแหน่งเช่นกัน หลังจากเกิดเหตุการณ์ผู้สนับสนุนรัฐบาลบุกทำร้ายผู้ประท้วงด้านท่อนไม้และแท่งเหล็ก ก่อนที่จะเกิดการตะลุมบอนและความวุ่นวาย ประชาชนจำนวนมากรุมทำร้ายนักการเมืองของพรรครัฐบาล และบ้านของนักการเมืองหลายหลังถูกผู้ประท้วงบุกทำลายและจุดไฟเผา
จนถึงขณะนี้มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 4 คน โดยในจำนวนนี้เป็นนักการเมืองของฝ่ายรัฐบาล 1 คน และมีผู้บาดเจ็บเกือบ 200 คน
เวลานี้ ศรีลังกากำลังประสบภาวะข้าวยากหมากแพงทั่วประเทศ รัฐบาลติดหนี้ปริมาณมหาศาล การนำเข้าสินค้าจำเป็นต่าง ๆ เช่น อาหาร นม และเชื้อเพลิง ต่างประสบปัญหา นำไปสู่ภาวะขาดแคลนอาหาร ไฟฟ้าถูกตัด ประชาชนต้องเข้าแถวยาวหลายชั่วโมงเพื่อซื้อสินค้าจำเป็น และแพทย์ต่างเตือนว่า ยารักษาโรคตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ไม่เพียงพอสำหรับประชาชน
ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา กล่าวว่า ตนไม่ได้เป็นผู้ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ แต่เป็นเพราะปัจจัยที่เกิดจากสถานการณ์โลก รวมถึงการระบาดของโควิด-19 และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน
ปัจจุบัน ศรีลังกามีหนี้ต่างประเทศที่ถึงกำหนดชำระภายในปีนี้ราว 7,000 ล้านดอลลาร์ รวมถึงหนี้พันธบัตรที่ต้องจ่ายคืนในเดือนกรกฎาคมนี้มูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรัฐบาลศรีลังกาพยายามกู้ยืมเงินจากแหล่งต่าง ๆ มาชดใช้หนี้ เช่น ไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก และอินเดีย
- ที่มา: เอพี