ประธานาธิบดีศรีลังกา ประกาศชัดจะดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ และจะเผชิญหน้ากับวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศต่อไป ท่ามกลางการประท้วงใหญ่กดดันให้ผู้นำศรีลังกาลาออกจากตำแหน่ง
ศรีลังกากำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนเชื้อเพลิงและสินค้าจำเป็นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และการประท้วงต่อต้านรัฐบาลจากปัญหาเศรษฐกิจได้ขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ และลามไปถึงบทบาทของประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา และตระกูลที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองของเขา
ล่าสุด ประธานาธิบดีราชปักษาเมินเสียงเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่ง แม้ว่าสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลของเขาจะพยายามกดดันให้ลาออกในสัปดาห์นี้ โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคร่วมรัฐบาลศรีลังกา ระบุว่า ควรมีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นมาแทน
แต่ทางจอห์นสตัน เฟอร์นันโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทางหลวงและส่งเสริมการลงทุนของศรีลังกา ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวต่อที่ประชุมสภาในวันพุธว่า ประธานาธิบดีราชปักษา “จะไม่ลาออก” และพร้อมจะเผชิญหน้ากับวิกฤตต่างๆ นี้
ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านั้น ประธานาธิบดีราชปักษา ได้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่เขาบังคับใช้เมื่อสัปดาห์ก่อน หลังจากมีกลุ่มผู้ชุมนุมประชิดใกล้กับบ้านพักประธานาธิบดีในกรุงโคลัมโบของศรีลังกา ซึ่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของผู้นำศรีลังกาได้หยิบยื่นอำนาจหน้าที่ในการปกป้องความมั่นคงปลอดภัย รวมถึงการระงับการบังคับใช้กฎหมาย การจับกุมคุมขัง และเข้ายึดทรัพย์สินต่างๆ เป็นต้น
ประท้วงขับไล่ประธานาธิบดี
ภาพถ่ายที่เผยแพร่ผ่านทางสถานีโทรทัศน์และสื่อสังคมออนไลน์เมื่อวันจันทร์ เผยให้เห็นผู้ประท้วงศรีลังกาบุกเข้าไปทำลายข้าวของในอาคารสำนักงานและทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนฯ จำนวนหนึ่งเรียกร้องให้มีการเพิ่มความปลอดภัยให้กับสมาชิกทุกคน และทางรัฐมนตรีเฟอร์นันโดกล่าวต่อที่ประชุมสภาว่า บรรดาส.ส.ทั้งหลายต่างเตรียมการรับเหตุวุ่นวายไว้หมดแล้ว และพร้อมที่จะเผชิญหน้าหากมีใครเข้ามาโจมตี
การประท้วงในศรีลังกายังดำเนินไปต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วประเทศเมื่อวันพุธ และเรียกร้องให้ประธานาธิบดีราชปักษาลาออกจากตำแหน่ง อย่างที่กรุงโคลัมโบ แพทย์ศรีลังกาจำนวนมากออกมาเดินขบวนประท้วง เรียกร้องให้รัฐบาลศรีลังกาแก้ปัญหาการขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์ในโรงพยาบาลรัฐ ขณะที่ส.ส.ฝ่ายค้าน ประท้วงกลางสภาในวันเดียวกันเพื่อกดดันให้ปธน.ราชปักษาลาออก จนต้องพักประชุมไปร่วม 10 นาที
ส่วนพิกัดอื่นๆ ในศรีลังกา มีนักศึกษา นักกฎหมาย และกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ รวมตัวประท้วงต่อต้านรัฐบาลด้วยเช่นกัน
แผนรัฐบาลแห่งชาติล่ม-ส.ส.พรรคทยอยลาออก
ก่อนหน้านี้ ปธน.ราชปักษา ได้เสนอการจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ เพื่อรับมือกับวิกฤตต่างๆ ในประเทศ แต่พรรคฝ่ายค้านปฏิเสธแนวคิดดังกล่าว และเมื่อค่ำวันอาทิตย์คณะรัฐมนตรีจำนวนมากได้ประกาศลาออก ตามมาด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคร่วมรัฐบาลเกือบ 40 คนก็ประกาศลาออกเช่นกัน ซึ่งทำให้รัฐบาลสูญเสียเสียงข้างมากอย่างมีนัยสำคัญ
อิทธิพลทางการเมืองของตระกูลราชปักษา
แม้ว่าตระกูลราชปักษาผู้ทรงอำนาจทางการเมืองจะกลายเป็นจุดที่สร้างความเดือดดาลให้ประชาชนในขณะนี้ แต่ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา และนายกรัฐมนตรีมหินทรา ราชปักษา ซึ่งเป็นพี่ชายของปธน. ยังเดินหน้ากุมอำนาจปกครองศรีลังกาต่อไป
ขณะที่ก่อนหน้านี้มีสมาชิกครอบครัวอีก 5 คนในตระกูลราชปักษาที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ รวมทั้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บาซิล ราชปักษา น้องชายของปธน. ซึ่งต่อมาถูกปลดจากตำแหน่ง และนามาล ราชปักษา ผู้เป็นหลานชายปธน. ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกีฬาศรีลังกา
อิทธิพลทางการเมืองของตระกูลราชปักษา ส่วนหนึ่งมาจากบทบาทของนายกรัฐมนตรีมหินทรา ราชปักษา เมื่อครั้งที่เขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีศรีลังกา ช่วงปี 2009 จากผลงานที่เขายุติสงครามกลางเมืองจากความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ที่กินเวลานานถึง 25 ปีได้
แต่ในตอนนี้ หลายฝ่ายเริ่มแสดงความกังวลว่า การกุมอำนาจทางการเมืองของตระกูลราชปักษาในกระทรวงสำคัญต่างๆ อาจกระทบกับความเป็นอิสระในการบริหารประเทศ และทำให้รัฐบาลไม่สามารถจัดการกับวิกฤตต่างๆ ที่ถาโถมศรีลังกาในเวลานี้ได้
สารพัดวิกฤตถาโถมศรีลังกา
รัฐบาลศรีลังกา ประเมินว่า ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจศรีลังกา 14,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วงระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ประท้วงศรีลังกา กล่าวโจมตีว่าเป็นการบริหารจัดงานงบประมาณที่ผิดพลาด
อีกด้านหนึ่ง ศรีลังกากำลังจมอยู่กับทะเลหนี้ต่างประเทศมหาศาล ที่ระดมกู้ยืมเพื่อโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการอื่นๆ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดรายได้กับศรีลังกา ถึงขั้นว่าระดับหนี้ต่างประเทศที่ครบกำหนดชำระหนี้ของศรีลังกาในปีนี้ สูงถึง 7,000 ล้านดอลลาร์ทีเดียว
ด้วยภาระหนี้ต่างประเทศก้อนใหญ่ที่มีอยู่ บวกกับเงินทุนสำรองต่างประเทศที่ร่อยหรอ ทำให้รัฐบาลศรีลังกาไม่สามารถชำระค่าสินค้านำเข้าที่จำเป็นต่างๆ ได้แล้ว
ในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ ชาวศรีลังกา ต้องต่อแถวรอคิวเพื่อซื้อน้ำมัน อาหาร และยารักษาโรค ซึ่งส่วนใหญ่นั้นมาจากต่างประเทศ และต้องชำระด้วยสกุลเงินต่างประเทศที่มีเสถียรภาพสูง และด้วยภาวะขาดแคลนพลังงานในศรีลังกา พร้อมกับกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำที่ลดลงในช่วงหน้าแล้ง ทำให้ศรีลังกาต้องสั่งตัดกระแสไฟฟ้าร่วมหลายชั่วโมงต่อวัน
ท่ามกลางวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจที่ถาโถมศรีลังกา ประธานาธิบดีราชปักษา ได้กล่าวเมื่อเดือนก่อนว่า รัฐบาลของเขากำลังหารือกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ รวมทั้งหารือกับจีนและอินเดียเกี่ยวกับเงินกู้ยืมเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งในระหว่างนี้เขาได้ขอความร่วมมือจากประชาชนในการจำกัดการใช้เชื้อเพลิงและไฟฟ้าในระยะนี้ไปก่อน
- ที่มา: เอพี