โรงเรียนหลายแห่งในกรุงโคลัมโบของศรีลังกาต้องปิดการสอนลงชั่วคราว ขณะที่ สถานีรถไฟหลายแห่งในเมืองหลวงของประเทศกลายมาเป็นพื้นที่ร้างในวันพฤหัสบดี หลังครูและคนขับรถไฟออกมาร่วมการประท้วงหยุดงานเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลของประธานาธิบดี โกตาบายา ราชปักษา ลาออกเนื่องจากความล้มเหลวในการจัดการเศรษฐกิจของประเทศจนตกอยู่ในภาวะวิกฤตรุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ลูกจ้างของธนาคารรัฐจำนวนหลายร้อยคนออกมาร่วมกับสหภาพแรงงานธนาคารอื่นๆ ในการเดินขบวนประท้วงที่หน้าทำเนียบประธานาธิบดีด้วย ขณะที่ ประชาชนนับพันนับหมื่นทำการชุมนุมประท้วงตามท้องถนนทั่วประเทศอยู่เช่นกัน
ซามานธี เอกานายาเก พนักงานธนาคารรัฐวัย 34 ปี บอกกับผู้สื่อข่าวว่า “รัฐบาลชุดนี้ทำลายประเทศเราจนย่อยยับ ต้นทุนของนั้นพุ่งสูงทุกวัน ธุรกิจพากันปิดตัวลงเรื่อยๆ และประชาชนเองก็ไม่มีทางอยู่รอดได้แล้ว ไม่มีเชื้อเพลิง ทำให้เวลาอยู่บ้านก็ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีก๊าซหุงต้มไว้ทำอาหาร”
ภาวะระบาดใหญ่เป็นวงกว้างโควิด-19 ประกอบกับราคาน้ำมันที่พุ่งสูง นโยบายลดภาษีเพื่อเรียกคะแนนเสียประชาชนของรัฐบาล และปริมาณสำรองเงินสกุลต่างประเทศที่ร่อยหรอลงเรื่อยๆ ทำให้รัฐบาลศรีลังกามีเงินไม่พอที่จะนำเข้าเชื้อเพลิง อาหารและยารักษาโรคในเวลานี้
ก่อนหน้านี้ ผู้นำสหภาพการค้าทั่วศรีลังกาได้ออกมาขู่แล้วว่า จะทำการหยุดงานประท้วงตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม หากประธานาธิบดีและรัฐบาลยังไม่ยอมลาออก
และเมื่อต้นสัปดาห์นี้ ประธานาธิบดี โกตาบายา ราชปักษา ประกาศย้ำว่า ตนจะตั้งรัฐบาลชั่วคราวพร้อมนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ แต่ นายกรัฐมนตรี มหินทรา ราชปักษา ซึ่งเป็นพี่ชายของตัวประธานาธิบดีเองปฏิเสธที่จะก้าวลงจากตำแหน่งและยืนยันว่า พรรคของตนนั้นยังคงครองเสียงข้างมากในรัฐสภาที่มีสมาชิก 225 คนอยู่
ขณะเดียวกัน พรรคการเมือง 2 พรรค อันได้แก่ พรรค SJB และพรรค TNA ได้เริ่มกระบวนการอภิปรายไม่ไว้วางใจประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีในสภาแล้ว
อย่างไรก็ดี นาลากา โกดาเฮวา โฆษกคณะรัฐมนตรี กล่าวว่า “การสั่นคลอนของเสถียรภาพทางการเมืองมีแต่จะทำให้การหาวิธีแก้ปัญหาวิกฤตการเงินนั้นทำได้ยากขึ้นไปอีก ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นในเวลานี้คือ การมีรัฐบาลที่แข็งแกร่งและมีสมาชิกเสียงข้างมากชัดเจนในสภา และรัฐบาลเองก็กำลังเดินหน้าทำการต่างๆ ให้บรรลุเป้าหมายนี้อยู่”
- ที่มา: รอยเตอร์