ทางการจีนกำลังพยายามผลักดันให้เกิดความตกลงระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มการควบคุมการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ต และให้ขยายขอบข่ายของอำนาจอธิปไตยของรัฐในโลกไซเบอร์ส เพิ่มจากอาณาเขตทางน้ำและทางบก
รัฐบาลจีนเปิดเผยสมุดปกขาวเพื่อการหารือประเด็นนี้กับประทศต่างๆ ในเวทีนานาชาติ
นักวิเคราะห์มองว่า ความพยายามของจีนครั้งนี้แท้จริงแล้วคือแผนขยายการยอมรับแนวทางของจีน สำหรับการควบคุมเนื้อหาข้อมูลบนระบบอินเตอร์เน็ต
จีนเคยถูกวิจารณ์โดยประเทศพัฒนาแล้ว ว่าใช้มาตรการหนักๆ ควบคุมระบบอินเตอร์เน็ต และสร้างสิ่งกีดกั้นไม่ให้บุคคลทั่วไปในจีนเข้าถึงบริการของบริษัทต่างประเทศ เช่น Google, Facebook, Twitter และเว็บไซต์ของสื่อต่างประเทศ
หากว่าความพยายามของจีนประสบความสำเร็จ นักวิเคราะห์กล่าวว่าบริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบ
Sheila Jasanoff ผู้อำนวยการโครงการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคมแห่งมหาวิทยาลัย Harvard กล่าวว่า เจตนารมณ์ดั้งเดิมของผู้พัฒนาระบบอินเตอร์เน็ต คือต้องการให้เกิดสังคมที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน
เธอบอกว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เมื่อเห็นว่าปัจจุบันระบบเปิดที่ถูกสร้างมาถูกเขียนกฎใหม่มาทับ ท่ามกลางการแข่งขันและการแสดงอำนาจรัฐ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขณะนี้ประเด็นเรื่องความปลอดภัยทางอินเตอร์เน็ตกำลังเป็นหัวข้อร้อน หลังจากที่สหรัฐฯ กล่าวหารัสเซียว่าแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันเมื่อปลายปีที่แล้ว
สิ่งที่จีนต้องการผลักดัน คือการให้ประเทศต่างๆ ยอมรับหลักการเรื่อง “อธิปไตยบนโลกไซเบอร์” ซึ่งไม่ควรมีการก้าวก่ายข้ามรัฐบาล
ปัจจุบันหลักเกณฑ์เรื่องการเคารพอธิปไตยที่ได้รับการรับรองจากสหประชาชาติ กำหนดเฉพาะเรื่องอธิปไตยเขตแดนทางบกและทางทะเลเท่านั้น
ขณะนี้แผนของจีนที่จะขยายคำจำกัดความเรื่องอธิปไตยให้ครอบคลุมโลกไซเบอร์ ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย และจีนจะสานต่อการรณรงค์ในเวทีระดับนานาชาติ เช่น การประชุมกลุ่ม BRICS ซึ่งประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้
(รายงานโดย Saibal Dasgupta / รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียง)