นักวิทยาศาตร์ชาวบอตสวานา ผู้คนพบเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ ‘โอมิครอน’ นั้น ให้สัมภาษณ์ว่า การค้นพบเชื้อไวรัสดังกล่าวนำมาซึ่งทั้งความภาคภูมิใจและความผิดหวังต่อชีวิตของตนเกินกว่าที่คาดหวังไว้
ดร.ซิคุไล โมโย นักไวรัสวิทยาจากโครงการความร่วมมือสถาบัน บอตสวานา ฮาร์วารด์ เอดส์ (Botswana Harvard AIDS Institute Partnership) ยอมรับว่า นับตั้งแต่ค้นพบไวรัสสายพันธุ์ ‘โอมิครอน’ มา ตนประสบภาวะอารมณ์ความรู้สึกสับสนปนเปกันมาตลอด เพราะทั้งภูมิใจในความสำเร็จครั้งนี้ แต่ก็รู้สึกแย่ ที่การค้นพบของตนทำให้รัฐบาลทั่วโลกออกคำสั่งห้ามนักเดินทางจากพื้นที่แอฟริกาทางตอนใต้เข้าประเทศของตน
ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว เอพี เพื่อเร็วๆ นี้ ดร.โมโย ตั้งคำถามว่า “นี่คือรางวัลที่วิทยาศาสตร์สมควรได้รับหรือ ด้วยการสั่งขึ้นบัญชีดำประเทศต่างๆ เช่นนี้” พร้อมย้ำว่า นานาประเทศไม่ควรดำเนินนโยบายด้านภูมิรัฐศาสตร์เมื่อเป็นกรณีของเชื้อไวรัส แต่ทุกฝ่ายควรร่วมมือกันเพื่อศึกษาและทำความเข้าใจมากกว่า
ทั้งนี้ ดร.โมโย กำลังทำการศึกษาการจัดลำดับจีโนมของตัวอย่างโควิด-19 ที่ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของเขาในบอตสวานาเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน และสังเกตเห็นว่ามีตัวอย่าง 3 กรณีที่แตกต่างจากกรณีอื่นๆ ด้วยการแสดงรูปแบบการกลายพันธุ์ซ้อนกัน จึงทำการศึกษาเพิ่มเติม ก่อนจะตัดสินใจเปิดเผยรายงานข้อมูลสู่สาธารณะทางอินเตอร์เน็ตเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
จากนั้น นักวิทยาศาตร์ในแอฟริกาใต้อีกหลายรายออกมาเปิดเผยการค้นพบแบบเดียวกัน ก่อนที่จะมีการยืนยันการค้นพบเชื้อไวรัสใหม่นี้ในฮ่องกงเช่นกัน และองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศการตั้งชื่อเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ ว่า ‘โอมิครอน’
และในการให้สัมภาษณ์ครั้งล่าสุดนี้ ดร.โมโย แสดงความไม่เห็นด้วยที่ตนถูกขนานนามว่า เป็นผู้คนพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้เป็นคนแรก และกล่าวว่า “นักวิทยาศาสตร์นั้นควรทำงานร่วมกันและ ควรเลิกพูดว่า “ใครเป็นผู้คนพบคนแรก” ได้แล้ว เพราะทุกคนควรมีความภูมิใจที่ต่างมีส่วนในพัฒนาการนี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง”
นักวิทยาศาสตร์ชาวบอตสวานาวัย 48 ปี รายนี้ยังกล่าวเสริมด้วยว่า การที่จะค้นพบอะไรใหม่ๆ ได้นั้น ย่อมต้องมีการเปรียบเทียบกับตัวอย่างนับล้าน และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่ต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตเพื่อเปรียบเทียบข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์รายอื่นๆ
ดร.โมโย ระบุว่า ตนและนักวิทยาศาสตร์อื่นๆ รู้สึกตื่นเต้นที่ได้มีส่วนร่วมในการส่งสัญญาณเตือนที่อาจช่วยให้ผู้คนจำนวนมากไม่เสียชีวิตหรือติดเชื้อได้
ทั้งนี้ เชื้อไวรัส ‘โอมิครอน’ ทำให้วงการนักวิทยาศาสตร์รู้สึกตกใจพอควร จากการที่ไวรัสตัวนี้มีการกลายพันธุ์ออกมาถึงกว่า 50 รูปแบบ
ทูลิโอ เด โอลิเวยรา ผู้อำนวยการศูนย์ Center for Epidemic Response and Innovation ในแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้สอน ดร.โมโย ขณะศึกษาในระดับปริญญาเอก กล่าวว่า ไวรัสสายพันธุ์นี้แสดงให้เห็นถึง “การก้าวกระโดดอย่างมากในขั้นตอนวิวัฒนาการ ทั้งยังนำเสนอรูปแบบการกลายพันธุ์มากมายเกินกว่าคาดด้วย”
เนื่องจากไวรัสสายพันธุ์นี้ยังเป็นการค้นพบที่ใหม่อยู่มากและทั่วโลกยังคงจับตารอดูรายละเอียดด้วยความกังวลใจ ทำให้ไม่สามารถแน่ใจได้ว่า ‘โอมิครอน’ ทำให้คนป่วยหนักมากขึ้น หรือมีความสามารถในการหลบเลี่ยงประสิทธิภาพของวัคซีนได้กันแน่ แต่หลักฐานที่ปรากฏในเบื้องต้นระบุว่า เชื้อไวรัสนี้น่าจะมีความสามารถในการติดต่อได้มากกว่า และทำให้ผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคโควิด-19 แล้วกลับมาติดเชื้อได้อีกครั้งด้วย
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ต่อจากนี้ คือเวลาที่ห้องแล็บทั่วโลกจะทำงานกันอย่างหนักเพื่อศึกษาให้เข้าใจว่า ‘โอมิครอน’ มีความสามารถอย่างไรบ้างและว่า ไวรัสนี้เป็นอันตรายต่อผู้คนมากเพียงใด
อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้ จำนวนผู้ติดเชื้อในแอฟริกาใต้กำลังพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีการประเมินว่า น่าจะเป็นเพราะไวรัส ‘โอมิครอน’ โดยตัวเลขล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาชี้ว่า มีการค้นพบผู้ติดเชื้อใหม่ถึงกว่า 16,000 รายภายในวันเดียว ซึ่งเป็นการพุ่งสูงจากค่าเฉลี่ยราว 200 คนต่อวันในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา