นายแพทย์แอนโธนี เฟาชี่ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของทำเนียบขาว ระบุในวันศุกร์ว่า นักวิทยาศาสตร์ต้องใช้เวลาอีกราวสองสัปดาห์ถึงจะทราบอย่างถ่องแท้ว่า เชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ โอมิครอน ระบาดได้ง่ายเพียงใด และมีความร้ายแรงเพียงใดกันแน่ และก่อนที่จะมีข้อมูลดังกล่าว ผู้คนต้องฉีดวัคซีนรวมทั้งวัคซีนเข็มบูสเตอร์เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น
ในระหว่างการแถลงข่าวประจำวันที่ทำเนียบขาว นพ.เฟาชี่ กล่าวว่า นักวิจัยของแอฟริกาใต้กำลังเดินหน้าวิจัยข้อมูลดังกล่าวอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีก 1-2 สัปดาห์ถึงจะได้ข้อมูลทางคลินิกและเพราะเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้ถูกพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ และยังคงต้องมีศึกษากรณีระยะยาวอื่นๆ อีกต่อไป
ทีมของทำเนียบขาวยังย้ำสารจากประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่ระบุก่อนหน้านี้ว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์ โอมิครอน เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล โดยนพ.เฟาชี่ นำเสนอข้อมูลใหม่ที่ระบุว่า วัคซีนของโมเดอร์นาและไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค เพิ่มแอนติบอดีได้อย่างมาก และย้ำถึงความจำเป็นที่ประชาชนต้องรับการฉีดวัคซีนด้วย
แพทย์หญิงโรเชลล์ วาเลนสกี ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ ซีดีซี เปิดเผยว่า ซีดีซีร่วมมือกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วสหรัฐฯ เพื่อช่วยให้หน่วยงานเหล่านี้ถอดรหัสจีโนม เพื่อกักตัวและบ่งชี้ผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนได้อย่างรวดเร็ว โดยเธอกล่าวย้ำว่า ขณะนี้ ซีดีซีดำเนินการดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมามาก
แพทย์หญิงวาเลนสกีย้ำด้วยว่า แม้ความสนใจจะอยู่ที่ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน แต่ไวรัสสายพันธุ์เดลตาคือ เชื้อที่กำลังระบาดหนักในสหรัฐฯ และทำให้มีผู้ติดเชื้อถึงร้อยละ 99.9 จากผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสทั้งหมด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีน
นายเจฟ ไซเอนส์ ผู้ประสานงานด้านโรคโควิด-19 ของทำเนียบขาว ระบุว่า เมื่อวันพฤหัสบดี มีผู้ฉีดวัคซีนจำนวน 2.2 ล้านคนทั่วสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงผู้ฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์กว่า 1 ล้านคนด้วย โดยตัวเลขนี้เป็นยอดฉีดวัคซีนต่อวันที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม
นายไซเอนส์ระบุว่า ผู้นำสหรัฐฯ ได้กำหนดขอบเขตการทำงานเพื่อรับมือกับภัยไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน เช่น การฉีดวัคซีนและวัคซีนเข็มบูสเตอร์ให้ผู้ใหญ่ การเริ่มฉีดวัคซีนให้เด็ก การมอบอุปกรณ์ตรวจหาเชื้อประจำบ้านแบบไม่มีค่าใช้จ่าย ยกระดับมาตรการการท่องเที่ยว และทำให้ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกได้รับวัคซีน
ผู้ประสานงานด้านโควิด-19 กล่าวด้วยว่า สหรัฐฯ บริจาควัคซีนไปแล้วเป็นจำนวน 1,200 ล้านโดสไปยังหลายประเทศ ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าวัคซีนที่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกบริจาครวมกัน โดยในวันศุกร์วันเดียว สหรัฐฯ จัดส่งวัคซีน 11 ล้านโดส โดยมี 9 ล้านโดสที่มีกำหนดส่งไปยังทวีปแอฟริกา