พบเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ โอมิครอน แล้วใน 40 ประเทศทั่วโลก ส่วนในสหรัฐฯ พบแล้วใน 16 รัฐ แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านสาธารณสุขของรัฐบาลอเมริกันยังไม่มั่นใจว่า เชื้อโอมิครอนนี้จะทำให้เกิดอาการป่วยโควิดรุนแรงหรือไม่ อย่างไร
นายแพทย์แอนโธนี เฟาชี่ ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวกับรายการ “State of the Union” ของสถานีข่าวซีเอ็นเอ็นว่า ดูเหมือนผู้ติดเชื้อโอมิครอนต่างไม่มีอาการรุนแรงมากนัก แต่จำเป็นต้องมีการศึกษาและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ตัวนี้มากขึ้นจึงจะสามารถสรุปเรื่องนี้ได้
ด้านนายแพทย์ฟรานซิส คอลลินส์ ผู้อำนวยการสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ เอ็นไอเอช กล่าวกับรายการ “Meet the Press” ของสถานีเอ็นบีซีว่า นักวิทยาศาสตร์กำลังทำงานหนักทั้งวันทั้งคืนเพื่อหาคำตอบว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้อันตรายมากหรือน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้หรือไม่
และว่า "สิ่งที่ค่อนข้างชัดเจนคือ นี่จะไม่ใช่การกลายพันธุ์ของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์สุดท้ายที่จะสร้างความกังวลให้แก่ผู้คนทั่วโลก"
ตั้งแต่วันจันทร์นี้ ผู้ที่จะเดินทางเข้าสหรัฐฯ ต้องมีผลตรวจโควิดเป็นลบหนึ่งวันก่อนที่จะเริ่มเดินทาง จากเดิมที่กำหนดไว้สามวัน อย่างไรก็ตาม สำหรับเที่ยวบินในประเทศ นายแพทย์คอลลินส์เชื่อว่าอาจเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะนำมาตรการลักษณะเดียวกันมาใช้ในตอนนี้
ข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า ตัวเลขคนอเมริกันที่เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรกเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูงสุดในรอบหกเดือนเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว หล้ังจากที่มีรายงานการพบเชื้อโอมิครอนในหลายรัฐ
จนถึงขณะนี้มีคนอเมริกันฉีดวัคซีนครบสองโดสแล้วเกือบ 200 ล้านคน และมากกว่า 45 ล้านคนฉีดเข็มบูสเตอร์เข็มที่สามแล้ว ขณะที่ยังคงมีประชาชนราว 60 ล้านคนที่เข้าข่ายฉีดวัคซีนได้แต่ยังไม่ไปฉีดวัคซีน
ทั้งนี้ รายงานจากแอฟริกาใต้ชี้ว่า เชื้อโอมิครอนมีอัตราการระบาดเร็วกว่าเชื้อเดลตาราวสองเท่า แต่ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่ามีอาการโควิดรุนแรงกว่าเชื้อกลายพันธุ์ที่พบก่อนหน้านี้หรือไม่