รัสเซียยิงขีปนาวุธโจมตีกรุงเคียฟและอีกหลายเมืองในยูเครนในวันจันทร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำประกาศของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ว่าจะมีการ "โจมตีครั้งใหญ่" เพื่อตอบโต้การทำลายสะพานเชื่อมแคว้นไครเมียกับแผ่นดินใหญ่ของรัสเซียเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งรัสเซียเชื่อว่าเป็นฝีมือของกองทัพยูเครน
ยูเครนเปิดเผยว่า รัสเซียยิงขีปนาวุธ 75 ลูกใส่หลายเมืองในยูเครน ทำลายเป้าหมายอย่างน้อย 10 แห่ง โดยการโจมตีส่วนใหญ่ในกรุงเคียฟเกิดขึ้นบริเวณใจกลางเมืองในย่านที่มีผู้คนพลุกพล่าน รวมทั้งสวนสาธารณะและแหล่งท่องเที่ยว ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 คน บาดเจ็บ 12 คน
นอกจากนี้มีรายงานผู้เสียชีวิตในเมืองอื่นอีกอย่างน้อย 5 คนจากการปูพรมถล่มของรัสเซียครั้งนี้
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และพันธมิตรชาติตะวันตกออกมาประณามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทันที พร้อมประกาศคำมั่นว่าจะนำส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับกองกำลังเคียฟเพื่อรับมือกับรัสเซียต่อไป
ปธน.ไบเดน ระบุในแถลงการณ์ว่า การยิงขีปนาวุธถล่มยูเครนครั้งล่าสุดนี้ "เป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายทารุณอย่างที่สุดของสงครามอันผิดกฎหมายต่อประชาชนชาวยูเครนของปูติน" และว่า "การโจมตีเหล่านี้มีแต่จะตอกย้ำความมุ่งมั่นที่จะยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวยูเครนตราบนานเท่าที่จะเป็นไป ... และเราจะร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนในการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียที่ทำการรุกราน(ยูเครน) จัดการให้ปูตินและรัสเซียรับผิดชอบต่อความโหดร้ายและอาชญากรรมสงคราม และจัดหาการสนับสนุนที่จำเป็นต่อกองกำลังยูเครนเพื่อป้องกันประเทศและเสรีภาพของตน
เออร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า เธอรู้สึก "ตกใจและตะลึงกับการโจมตีอันแสนชั่วร้ายต่อเมืองต่าง ๆ ของยูเครน ... รัสเซียในยุคของปูตินนั้นแสดงให้โลกเห็นอีกครั้งว่า ตนต้องการอะไร (ซึ่งก็คือ) ความโหดร้ายและความหวาดกลัว"
ขณะเดียวกัน ปธน.ปูติน กล่าวต่อที่ประชุมสภาความมั่นคงว่า การโจมตีครั้งล่าสุดพุ่งเป้าไปที่โครงสร้างพื้นฐานภาคพลังงาน การทหารและการสื่อสารของยูเครน และเป็นการตอบโต้ที่ยูเครนทำลายสะพานเชื่อมแคว้นไครเมียที่รัสเซียยึดครองมาอย่างไม่ถูกต้องเมื่อปีค.ศ. 2014
"เป็นที่ชัดเจนว่า หน่วยข่าวกรองของยูเครนเป็นผู้สั่งการ วางแผนและโจมตีในลักษณะก่อการร้ายดังกล่าว โดยมีเป้าหมายทำลายโครงสร้างพื้นฐานทางพลเรือนที่สำคัญของรัสเซีย" ปธน.ปูตินกล่าว
อย่างไรก็ตาม ทางยูเครนยังไม่ออกมาแสดงความรับผิดชอบว่าเป็นผู้โจมตีสะพานเคิร์ชบริดจ์ ที่เชื่อมคาบสมุทรไครเมียดังกล่าวจริง
นอกจากที่กรุงเคียฟแล้ว ขีปนาวุธของรัสเซียยังได้ทำลายเมืองลวิฟทางภาคตะวันตก เมืองดนิโปรในภาคกลาง และเมืองคาร์คิฟทางภาคตะวันออก โดยกองทัพยูเครนเปิดเผยว่าได้ยิงทำลายขีปนาวุธรัสเซียไป 41 ลูก
ประธานาธิบดียูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี กล่าวว่า รัสเซียมุ่งเป้าโจมตีพื้นที่พลเรือนและระบบไฟฟ้าต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยมุ่งหวังให้เกิด "ความตื่นตระหนกและโกลาหล" และทำลายเครือข่ายพลังงานของยูเครน
ปธน.เซเลนสกี กล่าวว่า ตนจะจัดการประชุมฉุกเฉินร่วมกับผู้นำกลุ่ม G-7 ในวันอังคารนี้เพื่อหารือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
"เราจะหารือเรื่องศักยภาพของระบบป้องกันตนเองทางอากาศของเรา รวมทั้งการตอบโต้ที่แข็งกร้าวจากทางยุโรปและประชาคมโลก และการเพิ่มแรงกดดันต่อรัสเซีย" ประธานาธิบดีเซเลนสกีทวีตหลังการหารือกับประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาคร็อง ในวันจันทร์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยูเครน ดมีโทร คูเลบา กล่าวว่า ปูตินใช้เหตุการณ์โจมตีสะพานเชื่อมไครเมียเป็นข้ออ้างในการใช้ขีปนาวุธโจมตียูเครน
"รัสเซียใช้ขีปนาวุธโจมตียูเครนมาโดยตลอดก่อนที่สะพานแห่งนั้นจะถูกระเบิด" และว่า "ปูตินกำลังสิ้นหวังจากความพ่ายแพ้ในสมรภูมิ และพยายามใช้ความโหดร้ายจากขีปนาวุธในการเปลี่ยนทิศทางของสงครามครั้งนี้" คูเลบากล่าว
ด้านหัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป โจเซพ บอร์เรลล์ ทวีตว่า ตนรู้สึก "ตกตะลึง" ต่อการโจมตีครั้งล่าสุดของรัสเซีย "ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ควรเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 และขอประณามรัสเซียในระดับสูงสุด" พร้อมยืนยันว่า "เราขออยู่เคียงข้างยูเครน ความช่วยเหลือทางทหารเพิ่มเติมจากสหภาพยุโรปกำลังไปถึง"
- ข้อมูลบางส่วนจากเอพี เอเอฟพี และรอยเตอร์