เจ้าหน้าที่รัฐบาลยูเครนรายงานในวันอาทิตย์ว่า รัสเซียยิงขีปนาวุธหลายลูกตลอดช่วงข้ามคืนก่อนหน้าเข้าไปในพื้นที่เมืองซาปอริห์เชีย ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 13 คนและบาดเจ็บกว่า 60 คน ขณะที่ กรุงมอสโกยังคงพยายามอ้างผลการทำประชามติและคำสั่งรัฐสภาเพื่อผนวก 4 อาณาเขตของยูเครนเข้ากับตนโดยผิดกฎหมายต่อไป
รายงานข่าวระบุว่า การโจมตีครั้งสุดนี้มีเป้าหมายเป็นอาคารอพาร์ทเมนท์และบ้านเรือนและเกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดเหตุระเบิดติดรถบรรทุกเมื่อวันเสาร์ ซึ่งทำให้สะพานเคิร์ชบริดจ์ (Kerch Bridge) ที่เชื่อมแผ่นดินใหญ่ของรัสเซียเขากับคาบสมุทรไครเมีย ถล่มลงมาบางส่วน โดยสะพานแห่งนี้เป็นเส้นทางหลักของการนำส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และเสบียงคลังสำหรับทหารให้กองทัพรัสเซียที่เดินหน้าโจมตีพื้นที่ภาคใต้ของยูเครนอยู่
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ยูเครนออกมาให้ข่าวว่า ฝ่ายตนเป็นผู้ทำการโจมตีสะพานดังกล่าว โดยไม่ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่า ยูเครนเป็นผู้รับผิดชอบการวางระเบิดครั้งนี้
ในระหว่างการแถลงข่าวรายวัน ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี พูดถึงการโจมตีสะพานแห่งนี้แต่ไม่ได้ระบุถึงสาเหตุ และกล่าวเพียงว่า “วันนี้ ไม่ได้เป็นวันที่เลวร้ายเท่าใด และแดดก็ออกเกือบตลอดในฝั่งของเรา ... แต่โชคไม่ดี ที่เป็นวันที่ขมุกขมัวที่ไครเมีย แม้ว่า อากาศจะอบอุ่นก็ตาม”
มิไคโล โพโดลยัก ที่ปรึกษาของปธน.เซเลนสกี ออกมาแสดงความยินดีต่อรายงานข่าวการโจมตีสะพานเชื่อมไครเมีย และทวีตข้อความว่า “ไครเมีย สะพาน และจุดเริ่มต้น ... ทุกอย่างที่ผิดกฎหมายต้องถูกทำลาย ทุกอย่างที่ถูกขโมยต้องถูกส่งคืนให้กับยูเครน ทุกอย่างที่ถูกรัสเซียครอบครองต้องถูกขับออกไป”
ประธานาธิบดีวลาเมียร์ ปูติน กล่าวในวันอาทิตย์ว่า การโจมตีสะพานนี้เป็น “การก่อการร้าย” ที่มีหน่วยรบพิเศษของยูเครนอยู่เบื้องหลัง และระบุว่า “ไม่มีอะไรต้องสงสัยเลยว่า นี่เป็นการก่อการร้ายที่มุ่งทำลายโครงสร้างพื้นฐานพลเรือนอันสำคัญยิ่งของสหพันธรัฐรัสเซีย” พร้อมย้ำว่า ได้สั่งให้เริ่มทำการสอบสวนคดีอาญาเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้แล้ว
ขณะเดียวกัน มาเรีย ซาคาโรวา ตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย โพสต์ข้อความผ่านแอปพลิเคชั่น เทเลแกรม ว่า “ปฏิกิริยาของรัฐบาลกรุงเคียฟ ต่อการทำลายโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน เน้นให้เห็นถึงธรรมชาติความเป็นผู้ก่อการร้ายของ(ยูเครน)”
การไปรษณีย์ยูเครน ออกแถลงการณ์ว่า จะมีการออกแสตมป์ชุดฉลองการระเบิดสะพานดังกล่าว โดยภาพที่จะใช้ในแสตมป์จะอ้างอิงจากภาพโปสเตอร์ภาพยนตร์คลาสสิคเพื่อตอกย้ำ “ความสำคัญอันศักดิ์สิทธิ์” ของสะพานแห่งนี้ในสายตาของมอสโก
ส่วนเหตุการโจมตีที่เมืองซาปอริห์เชียนั้น กองทัพอากาศยูเครนเปิดเผยว่า เกิดจากขีปนาวุธ 6 ลูก ซึ่งส่งผลให้อาคารตึกระฟ้าซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนอย่างน้อย 1 แห่งถล่มลงมา และทำให้หน้าต่างของอาคารอีกหลายแห่งแตกกระจาย
เมืองแห่งนี้ซึ่งยังอยู่ภายใต้การควบคุมของยูเครน ตั้งอยู่ใน 1 ใน 4 เขตปกครองที่รัสเซียประกาศผนวกเข้ากับตน
อย่างไรก็ดี รายงานข่าวระบุว่า รัสเซียยังคงสูญเสียพื้นที่ที่ตนเคยยึดครองมาได้ต่อไป โดยรวมถึงบริเวณที่มอสโกผนวกเข้ากับตนไป และปธน.ปูติน ขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์โต้สิ่งที่รัสเซียเรียกว่าเป็นการรุกรานอาณาเขตของตนหลังการผนวกดินแดนแล้ว
และเมื่อไม่กี่วันก่อน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า การโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียอาจนำไปสู่ “วันโลกาวินาศ” ได้
จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ในรายการ This Week ทางสถานีโทรทัศน์ ABC ในวันอาทิตย์ว่า สิ่งที่ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวนั้น คือ ภาพสะท้อนที่ชัดเจนต่อการประเมินสถานการณ์ ที่ว่า “เดิมพันในยูเครนนั้นสูงมาก” แต่ไม่ได้เป็นการอ้างอิงรายงานข่าวกรองของรัฐบาลที่ชี้ว่า ปธน.ปูติน กำลังจะเตรียมการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ในเร็ว ๆ นี้แต่อย่างใด
และเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โจเซพ บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายกิจการต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ออกมาประณามความพยายามของรัสเซียที่จะผนวก โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริห์เชีย ซึ่งเป็นโรงงานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรปเข้ากับตนว่า เป็น “สิ่งผิดกฎหมาย และโมฆะตามกฎหมาย” พร้อมระบุว่า กองทัพรัสเซียต้องถอนกำลังของตนออกจากบริเวณโรงงานดังกล่าวและส่งมอบพื้นที่คืนยูเครนด้วย
เมื่อเช้าวันเสาร์เช่นกัน สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ออกรายงานที่ระบุว่า แหล่งพลังงานที่มาจากนอกโรงไฟฟ้าซาปอริห์เชียซึ่งมีอยู่แหล่งเดียวได้ถูกตัดไป หลังรัสเซียยิงปืนใหญ่โจมตีเข้าใส่
และหลังทีมวิศวกรทำการซ่อมแซ่มสายส่งไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว มีการเชื่อมต่อสายส่งกำลัง 750 กิโลโวลต์ดังกล่าวเข้ากับตัวโรงงานอีกครั้งในช่วงเย็นของวันอาทิตย์ ตามเวลาในยูเครน
อย่างไรก็ดี ราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการ IAEA ทวีตข้อความออกมาว่า การเชื่อมต่อสายส่งไฟฟ้าจากภายนอกสำเร็จ เป็นเพียง “การบรรเทาสถานการณ์ชั่วคราว ในสถานการณ์ที่ยังไม่สามารถควบคุมป้องกันได้อยู่นี้”
โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ยังต้องพึ่งไฟฟ้าเพื่อทำให้ระบบต่าง ๆ ของโรงงานเย็นตัวตลอดเวลาและเพื่อการดำเนินมาตรการด้านความปลอดภัยต่าง ๆ ด้วย แม้ว่าจะมีการปิดเตาปฏิกรณ์ปรมาณูทั้ง 6 ตัวไปก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม
- ข้อมูลบางส่วนมาจาก เอพีและรอยเตอร์