องค์การสหประชาชาติและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่งเรียกร้องให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปิดประตูให้ความช่วยเหลือผู้อพยพชาว‘โรฮิงจะ’ที่ถูกกดขี่จากพม่าและบังคลาเทศ หนีลงเรือข้ามน้ำข้ามทะเลผ่านทะเลอันดามันมุ่งหน้าสู่ช่องแคบมะละกาเพื่อลี้ภัย ก่อนที่กลายเป็นวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรม
เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพไทยโปรยอาหารและน้ำเพื่อช่วยประทังความหิวโหย ให้กับชาวโรฮิงจะ นับร้อยชีวิตที่แออัดอยู่บนเรือ ลอยลำในเขตน่านน้ำไทย แถบทะเลอันดามัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
เรือลำนี้เป็นหนึ่งในกองเรือนับพันที่บรรทุกชาวโรฮิงจะทั้งผู้หญิงและเด็กเล็กจากพม่าเต็มลำ มุ่งหน้าข้ามน้ำข้ามทะเล หนีการเข่นฆ่าจากเหตุความแตกต่างทางศาสนาในพม่าเพื่อยอมไปตายเอาดาบหน้าในอีกฟากหนึ่งของมหาสมุทร
ที่ผ่านมามักมีนายหน้าที่รับปากจะพาไปให้ถึงปลายทางที่พวกเขามุ่งหวังคือประเทศมุสลิม อย่างมาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ตลอดช่วงหลายวันที่ผ่านมาทางการอินโดนีเซียต่างรับมือกับผู้อพยพชาวโรฮิงจะหลายร้อยคนต่อวัน
Muhammad Husein เป็นหนึ่งในผู้อพยพชาวโรฮิงจะจากพม่า ที่โชคดีได้รับช่วยเหลือให้ขึ้นฝั่งจากทางการอินโดนีเซียในจังหวัดอาเจะ เขาบอกว่า เขาไม่สามารถหันหลังกลับไปอาศัยในประเศที่มีชาวพุทธเป็นส่วนใหญ่ได้อีกแล้ว และต้องการที่จะอยู่ในประเทศมุสลิมอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียเท่านั้น
ก่อนหน้านี้เรือที่เขาโดยสารเคยพยายามเข้ามาเลเซียมาแต่ถูกปฏิเสธก่อนจะได้ขึ้นฝั่งและจะขออาศัยในอินโดนีเซียแทน และพวกเขาต้องการที่จะมีชีวิตอยู่เท่านั้น
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่โชคดีเหมือนชาวโรฮิงจะที่ได้รับความช่วยเหลือจากทางการอินโดนีเซียเพราะยังมีอีกจำนวนมากที่ต้องถูกผลักดันออกไปและยังคงลอยลำอยู่กลางทะเล นอกจากนี้หลังจากประเทศไทยซึ่งเป็นทางผ่านของการเส้นทางอพยพ ได้เพิ่มมาตรการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้กลุ่มนายหน้า คนขับเรือและผู้นำพาจำนวนไม่น้อยต่างสละเรือ และปล่อยให้พวกเขาเผชิญกับความหิวและอดอยากกลางทะเล
Phil Robertson ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย องค์การสิทธิมนุษยชน Haman Rights Watch บอกว่า การผลักภาระของประเทศต่างๆด้วยการผลักดันกองเรือของผู้อพยพกลับไปในทะเล เปรียบเสมือนการฝังเมล็ดพันธุ์ของความหายนะต่อความรับผิดชอบทางมนุษยธรรมต่อชาวโรฮิงจะที่ต้องการความช่วยเหลือ
ขณะที่ Stephane Dujarric โฆษกเลขาธิการสหประชาชาติ ระบุว่า นายบัน คีมุน เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆยึดมั่นในหลักการให้ความช่วยเหลือทางทะเลและต้องไม่ผลักดันผู้อพยพ โดยเร่งเร้าให้ทุกประเทศเปิดพรมแดนและท่าเรือให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเพื่อรับผู้อพยพเหล่านั้นขึ้นสู่ฝั่ง
ด้าน Jeffery Labovitz จากองค์กรด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ในประเทศไทย บอกว่า ชาวโรฮิงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือออกจากเรือโดยเร็ว เพราะยิ่งเวลาผ่านไปทุกวันพวกเขาก็จะยิ่งตกในภาวะสุ่มเสี่ยงมากขึ้นและอาจตายในที่สุด
ประเทศไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมในระดับภูมิภาคเพื่อหาทางออกร่วมกันในเรื่องเกี่ยวกับผู้อพยพชาวโรฮิงจะในปลายเดือนนี้ ที่กรุงเทพมหานคร
แต่จนถึงขณะนี้ท่าทีของแต่ละประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องยังคงยืนกรานปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือด้านที่พักพิงระยะยาวและพร้อมจะผลักดันให้ผู้อพยพเหล่านี้ออกสู่ทะเล ซึ่งอาจมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นวิกฤตการณ์ด้านมนุษยชนครั้งใหญ่ทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลกหากไม่มีการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมอย่างทันท่วงที