พม่าได้เริ่มดำเนินการสำรวจสำมะโนประชากรเป็นครั้งแรกในช่วงกว่าสามสิบปีมานี้ และในขณะที่เจ้าหน้าที่สำรวจจะต้องระบุเชื้อชาติและศาสนาของประชาชนความตึงเครียดจากปัญหาเรื่องเชื้อชาติและศาสนากำลังก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างชาวพม่ากับชนเผ่าต่างๆในประเทศ โดยเฉพาะชาว Rohingya ซึ่งส่วนใหญ่พำนักอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ แต่ทางการพม่าไม่ยอมรับว่าเป็นพลเมืองของประเทศ
รัฐบาลพม่าถือว่าชาว Rohingya เป็นบุคคลไร้สัญชาติ เพราะฉะนั้นในการกรอกใบสำรวจสำมะโนประชากร ชาว Rohingya จะถูกจัดไว้ในประเภท ‘อื่นๆ’ และต้องระบุชาติพันธุ์ของตน
ผู้สังเกตการณ์วิตกว่าคำถามที่ต้องให้ผู้ตอบแบบสอบถามระบุชาติพันธุ์และศาสนาของตน อาจนำไปสู่การขับไล่ผลักดันผู้คนออกจากบางชุมชน แต่เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติ ซึ่งให้คำปรึกษาแนะนำทางเทคนิคสำหรับการสำรวจนี้ บอกว่าเป็นการช้าและแพงเกินกว่าจะแก้ไขแบบสอบถามนี้ได้
ในช่วงก่อนการสำรวจ ซึ่งเริ่มต้นเมื่อสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พระภิกษุ Wirathu ซึ่งเป็นผู้ต่อต้านศาสนาอิสลามอย่างสุดขั้ว ได้ไปกล่าวปราศัยในรัฐยะไข่ เรื่องการปกป้องเชื้อชาติและศาสนา และก่อให้เกิดการประท้วงชักชวนให้ผู้คนคว่ำบาตรการสำรวจที่ว่านี้
พระภิกษุรูปนี้ได้กล่าวหาว่าชาวมุสลิมตั้งเป้ามุ่งทำร้ายพระสงฆ์และก่อกวนข่มขู่คนดีๆ และเรียกร้องให้ทางการพม่าขับไล่กลุ่มองค์กรที่ทำงานช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลือชาวมุสลิมออกนอกประเทศไป รวมทั้งให้ความเห็นไว้ด้วยว่า รัฐบาลไม่ควรให้สัญชาติและสิทธิในการแต่งงานแก่ชาวมุสลิม
มีคนจำนวนมากหวั่นกลัวว่า การระบุว่าตนเองเป็นชาว Rohingya จะทำให้สูญเสียโอกาสที่จะได้สัญชาติพม่า แต่ถ้าไม่ระบุตนเองเช่นนั้น ก็หมายความว่าการนับจำนวนชาว Rohingya ในพม่า จะได้จำนวนต่ำกว่าความเป็นจริง
มุขมนตรี Zaw Aye ของกรมกิจการสัญชาติในยะไข่ ผู้วิตกกังวลเกี่ยวกับความรุนแรงในยะไข่ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา กล่าวว่า สถานการณ์จะดีขึ้น ถ้าผู้คนเลิกระบุว่าตนเองเป็นคน Rohingya
เจ้าหน้าที่ของรัฐยะไข่ในพม่าผู้นี้กล่าวต่อไปว่า การระบุชื่อของกลุ่มคนที่ไม่ถือว่ามีอยู่ในประเทศ จะก่อให้เกิดความรุนแรงได้ แต่ถ้ายอมให้นับว่าเป็นชาวบังคลาเทศ ก็จะไม่มีปัญหาใดๆ
แต่ Kyaw Min นักการเมืองชาว Rohingya กล่าวว่า คนเป็นจำนวนมากกลัวว่า ถ้าระบุตนเองว่าเป็นคน Rohingya แล้วจะสูญเสียสถานภาพทางกฎหมาย แต่ถ้าไม่ระบุตนเองเช่นนั้น จำนวนชาว Rohingya ก็จะน้อยกว่าความเป็นจริง นาย Kyaw Min ยืนยันว่า เขาจะขึ้นทะเบียนว่าเป็นคน Rohingya และให้ความเห็นว่า การระบุชาติพันธุ์ไม่ได้ทำให้เกิดความรุนแรง แต่คำถามก็คือ ใครจะเป็นผู้ก่อความรุนแรง