คุณ Phil Robertson แห่งองค์กรสิทธิมนุษยชน Human Rights Watch กล่าวว่าหลุมศพและโครงกระดูกที่พบบริเวณค่ายผู้ลี้ภัย คือหลักฐานบ่งชี้ว่าปัญหาการลักลอบค้ามนุษย์นับวันยิ่งเติบโตขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ
ผอ.ฝ่ายเอเชียของ Human Rights Watch ชี้ว่าค่ายกักกันผู้ลี้ภัยซึ่งเจ้าหน้าที่ไปพบนั้น ขับเน้นให้เห็นถึงปัญหาคอรัปชั่นในหน่วยงานและชุมชนท้องถิ่นที่รับเงินจากขบวนการค้ามนุษย์ ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงขึ้นไปก็เอาหูไปนาเอาตาไปไร่
เพื่อรับมือกับปัญหานี้ และเพื่อตอบโต้กับปัญหาคอรัปชั่นในวงราชการ บรรดาชาวบ้านจากหลายหมู่บ้านได้ร่วมจัดกลุ่มอาสาสมัครลาดตระเวณตรวจตราตามหมู่บ้านต่างๆ เป้าหมายเพื่อขับไล่ขบวนการค้ามนุษย์ออกไปจากพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณใกล้กับชายหาดและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญใน จ.สงขลา พังงา และจังหวัดใกล้เคียง
ที่ผ่านมา อาสาสมัครกลุ่มนี้สามารถช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญะกลุ่มเล็กๆ ได้แล้วบางส่วน แต่คุณเชิดชัย ประพัทธมายุตานนท์ หัวหน้ากลุ่มอาสาสมัคร บอกว่าปัญหาก็คือเวลานี้ผู้ลี้ภัยมักแยกกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ไม่ใช่กลุ่มใหญ่เหมือนเมื่อก่อน ทำให้การติดตามทำได้ยากขึ้น
ปกติแล้วผู้ลี้ภัยที่เดินทางมากับเรือมักต้องลอยลำรออยู่นอกชายฝั่งเป็นเวลาหลายวัน ก่อนที่จะมีโอกาสขึ้นฝั่ง โดยขบวนการค้ามนุษย์จะพยายามกะเก็งจังหวะเวลาที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกุม
Nay Zomo Ding เด็กชายชาวโรฮิงญะที่ขึ้นฝั่งที่ประเทศไทย เล่าให้ฟังถึงความยากลำบากในการรอนแรมมาจากพม่า และความโหดร้ายของนายหน้าค้ามนุษย์ เด็กชายวัย 11 ปีผู้นี้เล่าว่าตนต้องอาศัยอยู่บนเรือเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม โดยแทบไม่มีอะไรตกถึงท้อง และตนยังเห็นผู้ชายสองคนโดนนายหน้าค้ามนุษย์ยิงเสียชีวิตต่อหน้าต่อตา
เมื่อปีที่แล้ว สหรัฐฯ ลดอันดับประเทศไทยให้อยู่ในระดับต่ำสุดของประเทศที่พยายามต่อสู้กับปัญหาการลักลอบค้ามนุษย์ ซึ่งการค้นพบหลักฐานการค้ามนุษย์ครั้งล่าสุดอาจยิ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า ปัญหาที่เห็นกันอยู่นั้นอาจเป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งขนาดมหึมาที่ยังจมอยู่ใต้ทะเล
ผู้สื่อข่าว Steve Stanford รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง