ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ครบ 1 ปี 'ปฏิบัติการ 1027' เมื่อ 3 พันธมิตรผสานกำลังขับไล่รัฐบาลทหารเมียนมา


สมาชิกกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง และกองกำลังพิทักษ์ประชาชนมัณฑะเลย์ ถ่ายรูปร่วมกันที่รัฐฉาน เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2024
สมาชิกกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง และกองกำลังพิทักษ์ประชาชนมัณฑะเลย์ ถ่ายรูปร่วมกันที่รัฐฉาน เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2024

เมื่อหนึ่งปีที่แล้ว กองกำลังชาติพันธุ์ขนาดใหญ่สามกลุ่มในเมียนมา ได้ร่วมมือกันสู้รบกับกองทัพเมียนมาในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ และสามารถยึดพื้นที่ได้อย่างกว้างขวาง สร้างแรงกระเพื่อมให้กับกลุ่มอื่น ๆ ลุกขึ้นมาต่อสู้กับรัฐบาลทหารที่ได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธจากจีนและรัสเซีย

ปฏิบัติการที่ใช้ชื่อว่า Operation 1027 เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ปีที่แล้ว นำโดยกองกำลังชาติพันธุ์ 3 กลุ่มภายใต้ชื่อ พันธมิตรสามภราดร (Three Brotherhood Alliance) ประกอบด้วย กองกำลังพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (Myanmar National Democratic Alliance Army - MNDAA) หรือที่รู้จักกันในชื่อ กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์โกก้าง กองทัพอาระกัน (Arakan Army - AA) และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (Ta'ang National Liberation Army - TNLA)

กองกำลังพันธมิตรดังกล่าวสามารถยึดหมู่บ้านและค่ายทหารจำนวนหลายสิบแห่งทางภาคตะวันตกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมา ซึ่งแม้แต่บรรดาผู้นำกองทัพก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะนำกลับคืนมา

คอนนอร์ แมคโดนัลด์ แห่งองค์กร Special Advisory Council for Myanmar กล่าวว่า "กองทัพตกเป็นฝ่ายตั้งรับทั่วประเทศ และทุกครั้งที่ทุ่มสรรพกำลังไปที่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง พื้นที่อื่นที่เหลือก็จะอ่อนแอลง" และดูเหมือนว่ากองทัพเมียนมาจะยังไม่สามารถหาหนทางยึดพื้นที่ที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้

หนึ่งปีผ่านมา กองกำลังพันธมิตรสามารถครอบครองพื้นที่ตั้งแต่ภาคเหนือลงมาตามแนวชายแดนทางภาคตะวันตกและตะวันออกทั้งสองด้าน ขณะที่กองทัพเมียนมาถอยร่นลงไปปักหลักในแถบภาคกลาง โดยเฉพาะนครย่างกุ้งและรอบกรุงเนปิดอว์

ลเวย์ เย อู โฆษกกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง กล่าวกับเอพีว่า "ไม่เคยคาดคิดเลยว่าเป้าหมายของเราจะสำเร็จรวดเร็วขนาดนี้... และเราสามารถครอบครองพื้นที่ได้อย่างง่ายดายกว่าที่คาดไว้"

ความสูญเสียหนักที่สุดของกองทัพเมียนมาเกิดขึ้นที่เมืองเล้าก์ก่าย ที่ซึ่งกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์โกก้างสามารถจับกุมทหารได้กว่า 2,000 คน รวมถึงนายพล 6 คน และที่เมืองล่าเสี้ยว ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกองทัพเมียนมา

มอร์แกน ไมเคิลส์ นักวิเคราะห์แห่ง International Institute of Strategic Studies ในสิงคโปร์ กล่าวว่า ปฏิบัติการ 1027 ได้รับความสำเร็จอย่างสูง การนำโดรนมาใช้โจมตีเครือข่ายทหารทั่วรัฐฉาน มีบทบาทสำคัญต่อความคืบหน้าที่เกิดขึ้น ทำให้กองทัพเมียนมา "อ่อนแอลงอย่างมาก" ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา

แผนการโจมตีโต้กลับ

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เชื่อว่ายังคงเร็วเกินไปที่จะบอกว่าฝ่ายแข็งข้อต่อต้านได้รับชัยชนะแล้ว เมื่อกองทัพเมียนมาสามารถยึดเมืองเกาลิน และภูมิภาคสะกาย กลับคืนไปได้ไม่นานนี้ รวมทั้งยังต้านทานการรุกคืบของกองกำลังกะเหรี่ยงที่รัฐคะยาห์ และรักษาการควบคุมเมืองเมียวดีบริเวณพรมแดนไทย-เมียนมา ไว้ได้

หลายคนเชื่อว่ากองทัพเมียนมาจะเริ่มการโจมตีโต้กลับเมื่อฤดูฝนสิ้นสุดลงเร็ว ๆ นี้ โดยมีกำลังเสริมจากทหารเกณฑ์ใหม่ราว 30,000 คนจากการใช้กฎหมายบังคับการเกณฑ์ทหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์

ขณะเดียวกัน กลุ่มแข็งข้อต่อต้านก็กำลังรุกคืบเข้าใกล้เมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับสองของเมียนมาซึ่งตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศแล้ว

ภาพถ่ายเมืองมัณฑะเลย์ เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2024
ภาพถ่ายเมืองมัณฑะเลย์ เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2024

รายงานของสำนักข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ในขณะที่กองทัพเมียนมากำลังสูญเสียพื้นที่ในสมรภูมิ จำนวนประชาชนผู้เสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศเพิ่มขึ้น 95% และเสียชีวิตจากการโจมตีด้วยปืนใหญ่เพิ่มขึ้น 170% นับตั้งแต่ปฏิบัติการ 1027 เริ่มต้นขึ้นเมื่อปีที่แล้ว

อิซาเบล ทอดด์ แห่งกลุ่ม SAC-M กล่าวว่า กองทัพเมียนมาถูกกล่าวหาว่าโจมตีมุ่งเป้าไปที่ประชาชนที่เชื่อว่าเป็นผู้สนับสนุนกองกำลังแข็งข้อต่อต้าน ซึ่งยิ่งทำให้เกิดความเกลียดชังรัฐบาลทหารในหมู่ประชาชนเมียนมามากขึ้น

แต่ทาง เต็ด สเว โฆษกกองทัพเมียนมา ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้พร้อมกล่าวหากลับว่ากองกำลังต่อต้านเองที่เป็นฝ่ายสังหารประชาชนและเผาหมู่บ้านหลายแห่ง

สหประชาชาติประเมินว่า จนถึงขณะนี้มีชาวเมียนมาที่กลายเป็นผู้อพยพย้ายถิ่นฐานมากกว่า 3 ล้านคน และต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมราว 18.6 ล้านคน

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG