ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ไทยใช้เวทีประชุมสุดยอดอาเซียนที่เวียงจันทน์ ดันแผนแก้ปัญหาเมียนมา


ผู้นำและผู้แทนอาเซียนร่วมถ่ายภาพบนเวทีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 44 ที่กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว เมื่อ 9 ต.ค. 2567
ผู้นำและผู้แทนอาเซียนร่วมถ่ายภาพบนเวทีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 44 ที่กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว เมื่อ 9 ต.ค. 2567

ผู้นำประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงเวียงจันทร์ในสัปดาห์นี้ที่มีการคาดหมายว่า จะมีการหารือหนทางแก้ไขปัญหาสงครามกลางเมืองที่รุนแรงหนักขึ้นเรื่อย ๆ ในเมียนมา โดยประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะเสนอแผนงานใหม่เพื่อหาทางออกทางการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านนี้ หลังความพยายามผลักดันแผนสันติภาพในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไม่คืบหน้า

ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในเมียนมาตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อปี 2021 นำมาซึ่งการก่อกบฏไปทั่วรวมทั้งสงครามกลางเมืองที่ล้างผลาญประเทศที่มีประชากร 55 ล้านคนนี้อย่างหนัก ขณะที่ รัฐบาลทหารก็ปฏิเสธที่จะเจรจากับฝ่ายต่อต้านที่ถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ก่อการร้ายด้วย

ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในสัปดาห์นี้ รัฐบาลไทยเสนอการเป็นเจ้าภาพ “การประชุมปรึกษาหารืออย่างไม่เป็นทางการ” กับตัวแทนสมาชิกกลุ่มอื่น ๆ อีก 9 ประเทศ ในเดือนธันวาคมเพื่อใช้หาทางออกให้กับภาวะความขัดแย้งรุนแรงที่ทำให้ประชาชนนับล้านคนพลัดถิ่น

นายนิกรเดช พลางกูร โฆษกกระทรวงการต่างประเทศบอกกับผู้สื่อข่าวว่า ประเทศไทย “ต้องการเห็นทางออกทางการเมือง(ในวิกฤตนี้)” และ “ประเทศไทยพร้อมที่จะประสานงานกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ เพื่อจะได้เกิดความพยายามร่วมกันของอาเซียนที่จะนำไปสู่สันติภาพในเมียนมา”

ตัวแทนไทยนำเสนอแผนการดังกล่าวในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อวันอังคาร ในช่วงที่กลุ่มความร่วมมือนี้เริ่มคิดไม่ตกว่าจะช่วยแก้ไขวิกฤตในเมียนมาได้อย่างไรแล้ว

อาเซียนเสนอแผนงาน “ฉันทามติ 5 ข้อ” ให้รัฐบาลทหารเมียนมาดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อปี 2021 หลังการก่อรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ และอินโดนีเซียก็ผลักดันให้ช่วยกันโน้มน้าวกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารยอมนั่งคุยกับกองทัพล้วนไม่ได้มีความคืบหน้าใด ๆ เลย

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลไทยพยายามแนะให้ประเทศที่มีอิทธิพลเหนือเมียนมา เช่น จีนและอินเดีย มาช่วยแก้ปัญหาบ้างแล้ว แต่แผนล่าสุดนี้จำกัดวงผู้เกี่ยวข้องให้เป็นประเทศสมาชิกอาเซียนเท่านั้น

นายนิกรเดชกล่าวว่า การตัดสินใจว่าจะเชิญรัฐบาลทหารเมียนมาหรือกลุ่มต่อต้านมาร่วมการหารืออย่างไม่เป็นทางการนี้หรือไม่ขึ้นอยู่กับลาวซึ่งเป็นประธานหมุนเวียนกลุ่มและประเทศสมาชิกอื่น ๆ

ในการเปิดประชุมสุดยอดในวันพุธ นายกรัฐมนตรีสอนไซ สีพันดอน แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าวว่า อาเซียนเผชิญความท้าทายหลายประการแต่ก็มีหนทางของตัวเองในการรับมือสถานการณ์เหล่านั้น โดยระบุว่า “ลาวมองว่า ความสำเร็จที่ผ่านมาของอาเซียนเกิดขึ้นได้เพราะความเข้าใจในกันและกันของเรา” และว่า “เราช่วยเหลือกันและกัน ร่วมมือกัน ภายใต้หนทางและหลักการของอาเซียน”

ทั้งนี้ นอกจากวิกฤตในเมียนมาแล้ว ปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ก็เป็นอีกประเด็นหารือหนักในการประชุมของผู้นำอาเซียนที่เมืองหลวงของลาว ก่อนจะมีการประชุมอื่น ๆ ระหว่างนายกรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ด้านการทูตของอาเซียนกับตัวแทนของประเทศมหาอำนาจอื่นต่อไป

ผู้แทนของประเทศนอกอาเซียนที่มีกำหนดเข้าร่วมประชุมที่ลาวมีอาทิ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ จากญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีหลี่เฉียง ของจีน และนายกรัฐมนตรีรัสเซีย เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ

แดเนียล คริเทนบริงค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ความพยายามที่จะทำให้รัฐบาลทหารเมียนมาลดระดับการใช้ความรุนแรง และปล่อยตัวนักโทษการเมือง รวมทั้งหันหน้ามาคุยกับฝ่ายต่อต้านที่เรียกร้องประชาธิปไตยนั้น “เรียกได้ว่าไม่มีความก้าวหน้าใด ๆ เลย”

คริเทนบริงค์กล่าวด้วยว่า รมต.บลิงเคน “จะเดินหน้าเน้นย้ำกับหุ้นส่วนทั้งหลายในภูมิภาคว่า เราต้องคอยกดดันรัฐบาล(ทหารเมียนมา)ต่อไป”

และเพราะอาเซียนห้ามไม่ให้เหล่านายพลกองทัพเมียนมาเข้าร่วมประชุมสุดยอดจนกว่าจะปฏิบัติตาเงื่อนไขการสร้างสันติภาพสำเร็จ ผู้ที่เป็นตัวแทนเมียนมาที่ลาวก็เป็นเพียงเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น

นายนิกรเดชเปิดเผยด้วยว่า ตัวแทนของเมียนมาได้ร้องขอให้รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ร่วมประชุมในวันอังคาร พยายามเข้าใจและเห็นใจรัฐบาลทหารและเลือกใช้ “ภาษากลาง ๆ” ในการหารือประเด็นวิกฤตของตน

แต่นายกอบศักดิ์ ชุติกุล อดีตโฆษกกระทรวงการต่างประเทศเตือนว่า อาเซียนต้องไม่ยอมอ่อนข้อให้กับคำเรียกร้องของเมียนมา ซึ่งรวมถึงประเด็นแผนการ “โรดแมป” 5 ขั้นตอนของรัฐบาลทหารที่หลายฝ่ายมองแล้วว่าจะนำไปสู่การเลือกตั้งแบบเข้าข้างตนเอง

นายกอบศักดิ์กล่าวด้วยว่า “ต้องมีการใช้ความระมัดระวังเพื่อไม่ให้ถูกดึงเข้าไปยอมตามแผนการ 5 ขั้นตอนของเมียนมา เช่น การจัดการเลือกตั้งในปีหน้าเพื่อรัฐบาลทหารมีความชอบธรรม เป็นต้น

  • ที่มา: รอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG